www.Nattakae.webs.com |
แทรกแซงตลาดยาง : ฉุดราคาไม่ขึ้น ... ต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตรอตลาดฟื้นปี 2543
บทสรุปสำหรับผู้บริหารโครงการแทรกแซงราคายางนับเป็นยาหม้อขนานใหญ่ที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการเข้าไปกระตุ้นราคาการรับซื้อยางในประเทศเพื่อให้ราคายางที่เกษตรกรได้รับนั้นไม่ตกต่ำจนกระทั่ง เกษตรกรประสบกับภาวะขาดทุน ปัญหาราคายางพาราตกต่ำนั้นนับว่าเป็นปัญหาคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งรัฐบาลก็มีการเข้าแทรกแซงราคาโดยเข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2541 และในวันที่ 22 ธันวาคม 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเงินแทรกแซงราคายางเพิ่มเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่รัฐบาลใช้ไปในการแทรกแซงราคายางตลอดระยะที่ผ่านมาของปี 2541 รวมเป็นเงินสูงถึง 7,300 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.75 ต่อปี ปัจจุบันเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าการเข้าไปแทรกแซงราคายางนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ในการที่จะต้องการกระตุ้นราคายาง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปทบทวนว่าผลประโยชน์ของการแทรกแซงราคายางนั้นตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่ตั้งใจหรือไม่
อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกติดอันดับหนึ่งในสิบของสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งมีทั้งการส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้น เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น เป็นต้น และการส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ เป็นต้น ในประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตทั้งยางแปรรูปขั้นต้นและโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง 630 โรงงาน ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกรีดยาง 800,000 ครัวเรือน มีการจ้างงานในการแปรรูปยางขั้นต้น 25,000 คน และการจ้างงานในโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง 44,000 คน ถ้าแรงงานเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการแทรกแซงราคายาง น่าจะมีส่วนทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ดีขึ้นเป็นแรงให้ต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หลักของการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ดีควรดำเนินการในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 2-3 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นราคาและตลาดในช่วงฤดูการผลิตเท่านั้น ถ้าดำเนินการแทรกแซงเป็นระยะเวลานานเกินไปจะทำให้เกษตรกรยังคงเพิ่มปริมาณผลผลิต ซึ่งราคาที่เกษตรกรได้รับนั้นไม่ใช่ราคาตลาดที่แท้จริง นอกจากนี้หลักการในการเข้าแทรกแซงเพื่อหวังผลในการยกระดับราคายางนั้นหน่วยราชการหรือองค์กรที่เข้าไปทำหน้าที่ดำเนินการแทรกแซงนั้นจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การเลือกแทรกแซงเฉพาะสวนยางรายใหญ่ เป็นต้น ทำให้ผลประโยชน์ที่เกษตรกรควรได้ไปตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง และพ่อค้ารายใหญ่ การดำเนินการแทรกแซงต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ใช่เป็นการทุจริตบนความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อให้เงินที่รัฐบาลใช้ในการแทรกแซงถึงมือของเกษตรกรโดยตรง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการแทรกแซงราคายาง คือ สถานที่เก็บสต็อกยางที่รับซื้อมาจากเกษตรกร ซึ่งคงต้องมีการตรวจเช็คสต็อกและแจ้งยอดสต็อกยางอย่างต่อเนื่อง ส่วนการจำหน่ายยางที่เก็บสต็อกเพื่อเป็นการระบายสต็อกยางที่เก็บไว้ทำให้ได้เงินมาหมุนเวียนในการเข้าไปแทรกแซง และเป็นการลดต้นทุนในการเก็บสต็อก นอกจากนี้ยางที่เก็บไว้นานจะเสื่อมคุณภาพจนอาจทำให้ราคาจำหน่ายต่ำกว่าราคาที่รับซื้อเข้ามาเก็บไว้
สถาบันวิจัยยาง คาดว่าในปี 2542 ปริมาณการผลิตยางยังคงเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5-6 หรือประมาณ 1 แสนตัน สภาพการตลาดในปี 2542 ไม่แตกต่างจากปีนี้ ราคายางยังคงตกต่ำต่อเนื่องถึงปีหน้า ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการในการแทรกแซงตลาดยางให้เหมาะสม โดยอัตราการแทรกแซงควรเคลื่อนไหวตามราคายางในตลาดโลกเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกสามารถเข้ามาแข่งขันในการรับซื้อได้ ไม่ใช่ในลักษณะของการที่รัฐบาลออกไปรับซื้อยางแข่งกับภาคเอกชนดังเช่นที่ผ่านมา และจากการที่มีการคาดการณ์ว่าในปีหน้าสินค้าเกษตรสำคัญหลายสินค้าจะประสบปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลยังเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งรัดให้มีการเข้าแทรกแซงราคา ปัญหาจึงอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้เพียงพอในการเข้าแทรกแซง และการดำเนินการแทรกแซงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวโน้มของตลาดค้ายาง และผู้ซื้อยางแผ่นในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมทั้งในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ความต้องการซื้อยางเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมรถยนต์ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญจากการแข่งขันกันระหว่างผู้ผลิต โดยเฉพาะการเทขายยางของประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลก ทำให้ราคายางในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเมื่อประเทศผู้ผลิตยางสำคัญต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน และค่าเงินของแต่ละประเทศก็ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผลก็คือ ราคายางแท่งของอินโดนีเซียมีราคาต่ำกว่าราคายางแผ่นรมควันของไทยเพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาทเท่านั้น ทำให้ตลาดซึ่งเคยนำเข้ายางแผ่นรมควันจากไทย คือ ญี่ปุ่น และจีนหันไปนำเข้ายางแท่งจากอินโดนีเซีย เนื่องจากยางแท่งสามารถใช้ทดแทนยางแผ่นรมควันได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ มีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า ตลาดรับซื้อยางทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรปนั้นมีความต้องการผลิตยางในรูปของยางแท่ง และน้ำยางข้น ในขณะที่การผลิตยางของไทยประมาณร้อยละ 70 ยังเป็นการผลิตยางแผ่น ซึ่งเน้นป้อนตลาดในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การส่งออกยางแผ่นรมควันของไทยชะลอตัวในปี 2541
สถานการณ์ความต้องการของตลาดยางเปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวโน้มความต้องการยางแท่งมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของประเทศผู้ใช้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศผู้ใช้ยางแผ่นรมควันมีการปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม เมื่อยางแท่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บทบาทของยางแผ่นรมควันเริ่มลดลง ทำให้ผู้ผลิตยางต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะไทย เนื่องจากตลาดยางแท่งของโลกนั้นมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้ครอบครองเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบันไทยผลิตยางแผ่นรมควันร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตยางทั้งหมด รองลงมาเป็นยางแท่งร้อยละ 25 น้ำยางข้นร้อยละ 10 และที่เหลืออีกร้อยละ 5 เป็นการผลิตยางอื่นๆ ในขณะที่ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการผลิตระหว่างยางแผ่นรมควันและยางแท่ง โดยในมาเลเซียมีการผลิตยางแท่งประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตยาง ส่วนในอินโดนีเซียจากที่เคยผลิตยางแผ่นรมควันร้อยละ 60-70 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 58 ในปี 2541 หรือมีการผลิตยางแท่ง 1.4-1.5 ล้านตันต่อปี ส่วนการส่งออกยางแท่งในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ตันต่อปี คาดว่าในปี 2541 จะสามารถส่งออกได้ถึง 450,000 ตันต่อปี และมีแผนว่าในปี 2545 มีการส่งออกยางแท่งเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ตันต่อปี ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกยางแผ่นรมควันของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยาง โดยหันมาใช้ยางแท่งถึงร้อยละ 40 ของความต้องการยางธรรมชาติทั้งหมด คาดว่าในปี 2542 สัดส่วนการใช้ยางแท่งของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกจากการใช้ยางแผ่นรมควันมาเป็นการใช้ยางแท่ง ทำให้บริษัทผู้ส่งออกยางไทย 5 อันดับแรก คือ บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด บริษัทวงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัทบีไรท์รับเบอร์ จำกัด บริษัทศรีตรังแอนโกร อินดัสเตรียส์ จำกัด และบริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด ต่างก็เร่งปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตยางแท่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาว อย่างไรก็ตามการปรับตัวนั้นต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตลาดในเอเชียบางส่วนก็ยังมีความต้องการยางแผ่นรมควัน และต้องให้เวลาชาวสวนยางในการปรับการผลิตเพื่อป้อนโรงงานยางแท่งด้วย
จากมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 21 ธันวาคม 2541 เห็นว่าไม่ควรขยายพื้นที่ปลูกยาง และให้ลดพื้นที่ปลูกลงด้วย โดยให้มีการดำเนินการโค่นต้นยางเก่าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการโค่นเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนไร่ เป็น 3 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตยางในช่วงอีก 7 ปีข้างหน้าลดลง โดยให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ยังมีอนาคต
ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังมีการจัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนายางพาราครบวงจร (ปี 2542-2546) เพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร รอเพียงผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และนำไปปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งถ้ามีการเร่งดำเนินการให้แผนยุทธ์ศาสตร์นี้มีผลในทางปฏิบัติเร็วเท่าใดก็นับว่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมยางของประเทศปรับตัวทันการรองรับการคาดการณ์ของวงการค้ายางว่าในปี 2543 นี้อุตสาหกรรมยางจะพลิกฟื้นอีกครั้งตามภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่จะฟื้นตัว
ที่มา Kasikorn Research Center 30 ธันวาคม 2541