www.Nattakae.webs.com |
อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี : ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้า
บทสรุปสำหรับผู้บริหารปุ๋ยเคมีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของประเทศ และยังเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศในการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ตามปุ๋ยเคมีเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่การผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยเป็นเพียงการนำเข้าวัตถุดิบ คือ แม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสมเพื่อนำไปผสม และบรรจุจำหน่ายต่อไป กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมขั้นสุดท้าย ปัจจุบันการผลิตในประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด แม้ว่าตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 รัฐบาลจะหันมาสนับสนุนให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยธรรมชาติมากขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวของการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงจากที่เคยมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10.6 ต่อปีเหลือเพียงร้อยละ 6.0 ก็ตาม ปุ๋ยเคมีก็ยังเป็นที่นิยมใช้มากกว่าเนื่องจากใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการใช้ดีกว่า
นโยบายของรัฐบาลในเรื่องปุ๋ยเคมีมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ในปี 2535 โดยให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตรต้องประมูลปุ๋ยเพื่อรอจำหน่ายเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนรายอื่นๆ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงเป็นผู้กำหนดราคาขั้นสูง ส่วนทางด้านการนำเข้านั้นเปิดให้ผู้นำเข้าหรือผู้ค้าทุกรายที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าปุ๋ยเคมีสามารถนำเข้าปุ๋ยโดยตรงไม่ต้องผ่านบริษัทปุ๋ยแห่งชาติอีกต่อไป และไม่เก็บภาษีขาเข้าปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเกษตรกร และในเดือนกันยายน 2536 รัฐบาลประกาศยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยที่เดิมเก็บในอัตราร้อยละ 30 ของราคานำเข้า โดยจะยกเว้นเฉพาะวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย ได้แก่ แอมโมเนียชนิดปราศจากน้ำ ปุ๋ยหินฟอสเฟต กรดซัลฟูริก และกรดฟอสฟอริก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีให้มีการเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศมากขึ้น และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากราคาปุ๋ยจะลดลง จากนโยบายรัฐบาลดังกล่าวนับว่ามีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ซื้อปุ๋ยในราคาถูกลง อย่างไรก็ตามเกษตรกรในประเทศไทยบางส่วนยังมีปัญหาในเรื่องไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ย ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมสภาพ ดินเปรี้ยว ซึ่งผิดวัตถุประสงค์หลักของการใช้ปุ๋ยที่ต้องการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอนโยบายให้มีการปรับปรุงดินด้วยวิธีการทางชีววิทยาและธรรมชาติแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และในส่วนที่ยังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ก็จัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องแก่เกษตรกรเพื่อให้การใช้ปุ๋ยก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คุ้มค่ากับการลงทุนของเกษตรกร
คาดว่าในปี 2543 ปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเท่ากับ 3.99-4.06 ล้านตัน โดยตั้งแต่ปี 2539 มีอัตราการขยายตัวของปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณร้อยละ 6.0 ต่อปี แยกเป็นปริมาณความต้องการปุ๋ยไนโตรเจน 891,900 ตัน ปุ๋ยฟอสเฟต 482,000 ตัน ปุ๋ยโปแตส 383,400 ตัน และที่เหลือเป็นความต้องการปุ๋ยผสม นอกจากนี้ถ้าจะพิจารณาปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีแยกตามพืชที่สำคัญ ปรากฏว่า ข้าวยังคงเป็นพืชที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีมากที่สุด โดยมีปริมาณความต้องการร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด รองลงมา คือ ไม้ผลและไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ อย่างไรก็ตามปัญหาของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยที่ต้องเร่งแก้ไขนั้นมีทั้งปัญหาทางด้านการผลิต โดยการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศต้องพิจารณาที่เมื่อผลิตแล้วปุ๋ยต้องมีราคาถูกกว่าปุ๋ยที่นำเข้า จึงนับว่าจะเป็นการช่วยเกษตรกรในประเทศให้มีปุ๋ยราคาถูกใช้ ส่วนทางด้านการตลาดปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน คือ ปัญหาปุ๋ยปลอม ซึ่งทางรัฐบาลเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือเกษตรกร และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมีความรอบคอบมากขึ้นในการซื้อปุ๋ย รวมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกรในการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด
ที่มา Kasikorn Research Center 16 เดือนพฤศจิกายน 2541 ผู้รับผิดชอบ : ปัญญภัทร ธาระวานิช