www.Nattakae.webs.com |
ยางไทยถอนตัวจากอินโร : ผลได้ VS. ผลเสีย
บทสรุปสำหรับผู้บริหารไทยเป็นสมาชิกองค์การยางธรรมชาติระหว่างประเทศหรืออินโร (International Natural Rubber Organization : INRO) โดยหวังให้ช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางในประเทศ แต่เมื่ออินโรไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ จึงเริ่มมีการพิจารณาว่าไม่คุ้มกับค่าสมาชิกที่ต้องจ่ายสูงถึงปีละ 15 ล้านบาท แล้วรัฐบาลยังต้องทุ่มงบประมาณอีกจำนวนสูงถึง 4,700 ล้านบาทในการเข้าแทรกแซงรับซื้อยางจำนวน 99,000 ตัน ปัจจุบันจึงได้มีการเสนอแนวคิดต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติของไทย และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปเพื่อให้ถอนตัวออกจากอินโรเช่นเดียวกับมาเลเซียที่แสดงท่าทีแน่ชัดแล้วว่าคงจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอินโรเช่นกัน
เหตุผลหลักในการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาถอนตัวออกจากสมาชิกอินโร เนื่องจากอินโรไม่สามารถช่วยเหลือไทยในการรักษาเสถียรภาพราคายางได้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กอปรกับต้นทุนการผลิตยางของทั้งไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคายางในตลาดโลกกลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนถึงร้อยละ 35 โดยอินโรเองก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศผู้ผลิตยางแต่อย่างใด เนื่องจากระดับราคากลางที่อินโรจะเข้ามาแทรกแซงนั้นเป็นราคาที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยของเงินดอลลาร์มาเลเซียต่อดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าอ่อนลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้อินโรไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ และประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติได้ขอร้องให้อินโรปรับราคาแทรกแซงให้ตรงกับความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก นอกจากนี้การอ่อนตัวของค่าเงินทั้งของไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียยังมีผลให้ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายค่าสมาชิกและวงเงินมูลภัณฑ์กันชนในอัตราที่สูงขึ้นด้วย ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกากลับได้เปรียบประเทศผู้ผลิตยางด้วยการจ่ายเงินน้อยลงจากความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการจ่ายค่าสมาชิก และมูลภัณฑ์ต้องจ่ายในรูปของค่าเฉลี่ยเงินมาเลเซียต่อเงินสิงคโปร์
สำหรับขั้นตอนในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติที่แน่ชัดตัดสินใจให้ประเทศไทยถอนตัวจากอินโรแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องทำเรื่องขอถอนตัวส่งไปให้เลขาธิการสหประชาชาติ และจะมีผลอย่างเป็นทางการในอีก 1 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องชี้แจงถึงจุดยืนของประเทศไทยกับอินโรอีกครั้งในระหว่างการประชุมอินโรวันที่ 20-23 ตุลาคม 2541 ที่ประเทศมาเลเซีย ต่อจากนั้นฝ่ายไทยกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจะร่วมกันกำหนดแนวทางด้านการตลาดต่อไป ซึ่งการดำเนินการภายใต้กลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจะร่วมกันจัดตั้งระบบตลาดประสานระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิกผู้ผลิตธรรมชาติ ทั้งนี้ไทยกับอินโดนีเซียจะเร่งดำเนินงานจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนยางให้แล้วเสร็จในปี 2542 นี้เพื่อให้ราคายางของประเทศผู้ผลิตยางเป็นระบบราคาเดียวที่เป็นพื้นฐานของราคายางทั่วโลก
การถอนตัวออกจากอินโรของไทยคงทำให้อินโรตกอยู่ในฐานะลำบาก เนื่องจากเงินส่วนที่ไทยจ่ายให้กับอินโรนั้นจัดอยู่เป็นลำดับที่ 6 ของงบประมาณทั้งหมดของอินโร ภายหลังจากนั้นภาระในส่วนนี้จะได้รับการเฉลี่ยไปให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยาง ดังนั้นคาดว่าคงจะมีการประนีประนอมกันโดยผ่านการปรับการเข้าแทรกแซง และการปรับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินที่จะเป็นตัวกำหนดการเข้าแทรกแซงของอินโร เนื่องจากในปัจจุบันค่าเงินที่ตกต่ำอย่างมากของสกุลเงิน(ทั้งดอลลาร์มาเลเซียและดอลลาร์สิงคโปร์)ที่ใช้เป็นตัวกำหนดราคาแทรกแซงของอินโร ซึ่งคงจะมีการประชุมรายละเอียดในเรื่องนี้ในการประชุมอินโรครั้งต่อไปในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 แต่การประนีประนอมที่เกิดขึ้นนี้ต้องขึ้นอยู่กับท่าทีของประเทศผู้ใช้ยางที่เป็นสมาชิกของอินโรด้วย และยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญของโลก
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศผู้ใช้ยางจะพอใจกับภาวะราคายางตกต่ำที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอยู่ในเกณฑ์ต่ำด้วย แต่ถ้าหลังจากที่ไทย และมาเลเซียถอนตัวจากอินโร อินโรคงอยู่ไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่มีการเข้าแทรกแซงในการรับซื้อยางเพื่อพยุงราคายางธรรมชาติ ผลต่อเนื่องคือ จะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนในการผลิตยางธรรมชาติ อันจะนำไปสู่ผลผลิตยางธรรมชาติขาดแคลนในที่สุด
การถอนตัวจากอินโรแล้วหันมาใช้สมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติเป็นเครื่องมือแทนนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากบทบาทสำคัญของอินโร คือ การรักษาเสถียรภาพราคายางธรรมชาติในตลาดโลก และปัญหาที่สำคัญของอินโรในปัจจุบันที่เข้ามาแก้ปัญหาราคายางธรรมชาติที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้วไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดโดยลักษณะเฉพาะของสินค้ายางที่แตกต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพราะจะผูกติดกับราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทำให้ยางสังเคราะห์ที่ใช้แทนยางธรรมชาติมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคายางธรรมชาติ ดังนั้นความต้องการยางธรรมชาติจึงลดลง และราคาก็มีแนวโน้มลดลงด้วย นอกจากนี้การดำเนินการของอินโรโดยกลไกของการบริหารมูลภัณฑ์กันชนนั้นไม่ได้เตรียมการไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้กลไกการรักษาเสถียรภาพไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น หรือทำให้ในทางปฏิบัติแล้วอินโรยังไม่ได้ออกมารับซื้อยางเข้ามูลภัณฑ์กันชนแม้ว่าราคายางจะตกต่ำอย่างมาก แต่ทางอินโรก็กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงกลไกเพื่อให้เงื่อนไขการปฎิบัติงานเอื้อกับสถานการณ์ที่มีความผันผวนทาง อัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องด้วยและเปิดโอกาสให้ทั้งไทยและมาเลเซียยื่นข้อเสนอเพื่อขอปรับราคาอ้างอิงให้สูงขึ้นเพื่อที่อินโรจะได้เข้ามา แทรกแซงรับซื้อยางในตลาดโลก สำหรับการที่ไทยจะใช้สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติมาเป็นองค์กรระหว่างประเทศในการรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดโลก เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตยาง ดังนั้นความคิดเห็นคงเป็นไปในแนวเดียวกันนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องวางกฎเกณฑ์ และระเบียบปฏิบัติอีกมากเพื่อที่จะให้มีกลไกปฏิบัติงานได้เสมือนกับอินโร นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ ประเด็นของผลที่ตามมาหลังจากการถอนตัวออกจากอินโรของทั้งไทยและมาเลเซีย คือ ความผันผวนของราคายางในตลาดโลก ซึ่งไทยก็ยังไม่ได้มีการเตรียมรับมือไว้อย่างดีพอ เนื่องจากตลาดยางของไทยประมาณร้อยละ 90 ยังต้องพึ่งพาตลาดโลก ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ เกษตรกร และโรงงานที่ผลิตยาง นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสีย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย และควรหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมยางอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยการผลักดันให้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางที่กำลังยกร่างกันอยู่นั้นมีผลทางปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางต่อไป
ที่มา Kasikorn Research Center 9 กันยายน 2541