www.Nattakae.webs.com |
ผลกระทบจากการตั้งตลาดกลางยางแผ่นดิบต่อชาวสวนยางและร้านค้ายางท้องถิ่น
The Impact of Central Rubber Market to the Smallholders and the local Dealers
สมจิตต์ ศิขรินมาศ เอนก กุณาละสิริ และ โสภณ เกิดคง
สำนักงานตลาดกลางยางพารา/วิจัยและพัฒนาตลาดยาง
บทคัดย่อการศึกษาผลกระทบจากการตั้งตลาดกลางยางแผ่นดิบ ต่อชาวสวนและร้านค้ายางท้องถิ่นเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ เกษตรกรที่นำยางแผ่นดิบไปขายตลาดกลางยางพารา 50 ราย และตลาดท้องถิ่น 30 ราย และพ่อค้าในเมืองของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลาอีก 23 ราย รวมทั้งสิ้น 103 ราย ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจเลือกขายยางแผ่นดิบ ผ่านตลาดกลางยางพารา และตลาดท้องถิ่นของเกษตรกรชาวสวนยาง ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของราคา และรายได้ที่ได้รับจากการขายยางแผ่นดิบ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านยางพาราจากสื่อญาติ เพื่อนบ้าน และพ่อค้าคนกลาง คุณภาพยางดิบ และทัศนคติที่มีต่อการจัดตั้งตลาดกลางยางพารา ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของราคาขายยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางสูงกว่าตลาดท้องถิ่น การขายยางผ่านตลาดกลางมีหลักประกันว่าจะขายยางได้ราคาตามคุณภาพ ความเป็นธรรมที่ได้รับในการชั่งยาง และตลาดกลางมีขั้นตอนในการบริการที่ยุ่งยาก และใช้เวลามากกว่าตลาดท้องถิ่น สำหรับปัจจัยที่ไม่ได้ส่งผลต่อความแตกต่างในการตัดสินใจเลือกแหล่งขาย อันเนื่องจากไม่พบความสัมพันธ์ทางสถิติ คือ ระดับอายุ การศึกษา ขนาดของครัวเรือน การรับรู้ข่าวสารด้านยางพาราจากสื่อสิ่งตีพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ การโทรศัพท์สอบถามราคาจากตลาดกลางยางพารา สถานภาพและขนาดการถือครองที่ดิน รายได้ทั้งหมดของครัวเรื่อน และการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทัศนคติที่มีต่อการจัดตั้งตลาดกลางยางพารา ซึ่งมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ในเรื่องของตลาดกลางยางพารา สามารถยกระดับราคายางให้สูงขึ้น การเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยางพารา และตลาดกลางยางพาราสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางพัฒนาคุณภาพยางที่ผลิต รวมทั้งผู้ซื้อ หรือผู้ประมูลยาง ณ ตลาดกลางยางพารา อาจมีการรวมหัว หรือฮั้วกันในการกำหนดราคาซื้อได้
นอกจากนี้การจัดตั้งตลาดกลางยางพารายังส่งผลให้จำนวนเกษตรกรและปริมาณยางแผ่นดิบ ที่นำไปขายร้านค้าท้องถิ่นลดลง เนื่องจากชาวสวนยางได้คัดแยกยางคุณภาพดีไปขายตลาดกลาง และคุณภาพไม่มีขายให้แก่ร้านค้า ประกอบกับชาวสวนยางที่นำยางไปขายร้านค้ามักต่อรองราคาและคุณภาพยาง โดยอ้างอิงราคาประมูลยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางและมาตรฐานคุณภาพยางแผ่นดิบที่ตลาดกลางกำหนดทำให้พ่อค้าท้องถิ่นต้องปรับราคาซื้อให้สูงขึ้นตามคุณภาพยางที่เกษตรกรผลิต กำไรสุทธิหรือผลตอบแทนที่ได้รับจึงลดลงจากเดิมเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.58 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 0.29 บาท หรือลดลง ร้อยละ 50 นอกจากนั้นร้านค้ายางท้องถิ่นได้ใช้ราคายางแผ่นดิบที่ประมูล ณ ตลาดกลาง และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ราคายางแผ่นดิบแห้ง 100%) ที่โรงรมควันเปิดแต่ละวัน เป็นเกณฑ์พิจารณากำหนดราคารับซื้อ อีกทั้งตลาดกลางยังเป็นสถานที่เลือกขายยางของร้านค้าท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากการนำยางไปขายให้กับโรงรมควัน หรือผุ้ส่งออกโดยตรง สำหรับทัศนคติของร้านค้าท้องถิ่นที่มีต่อการจัดตั้งตลาดกลางยางพารา ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าตลาดกลางสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพยางที่ผลิต ทำให้คุณภาพยางโดยรวมของตลาดดีขึ้น เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด และราคายาง ช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้น สร้างความเป็นธรรมในการขายยาง ตลอดจนเป็นแหล่งทางเลือกขายยางแผ่นดิบ ตามลำดับ แต่ไม่เห็นด้วยกับความรวดเร็วที่ได้รับจากการบริการตลาดกลางยางพารา การศึกษาวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องให้การสนับสนุนคือ การขยายการตัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคครอบคลุมแหล่งพื้นที่ปลูกยาง และการสร้างโอกาสการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านยางให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาง โดยใช้ตลาดกลางยางพาราเป็นแหล่งหรือศูนย์กลางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสนับสนุนการรวมกลุ่มปรับปรุงคุณภาพยางแผ่น และขายยางเพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา และยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น
รหัสทะเบียนวิจัย 39 17 002 003
ที่มา www.rubberthai.com