www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร...สร้างศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ปัจจุบันสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นสินค้ากลยุทธ์หรือสินค้าหลักในการที่จะเข้าต่อสู้กับตลาดโลก อย่างไรก็ตามการที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีการปรับโครงสร้างการเกษตรเสียใหม่เพื่อให้มีความพร้อมในการที่จะต่อสู้ ซึ่งหมายถึงการพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรในตลาดโลก แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งในที่นี้จะแยกการพิจารณาสินค้าออกเป็น 2 หมวดใหญ่ คือ สินค้าเกษตร และสินค้าหมวดอาหาร โดยที่เคยมีคำกล่าวว่าไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก หรือเป็นศูนย์กลางอาหาร หรือแม้กระทั่งซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลก แต่เมื่อพิจารณาลงให้ลึกถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าแต่ละชนิดนั้นยังมีข้อจำกัดในการพัฒนา ทำให้ไม่เกิดการก้าวกระโดดในการส่งออก ทั้งที่บางสินค้าแม้จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่าในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อไทยจะหันมาใช้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศจะต้องเริ่มที่จะเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศอย่างจริงจัง

ถ้าพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิแล้ว ก็ยังปรากฏว่าสหรัฐอเมริกายังคงครองอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิ 14,122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2537 รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิเท่ากับ 12,763.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 9,991.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 7 ของโลก และลำดับที่ 3 ในเอเชีย โดยยังเป็นรองทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศในแถบเอเชียนั้น จีนครองอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของโลก รองลงมาคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.2 ,2.2 และ 2.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในแง่ของการส่งออกสุทธิแล้ว ปรากฏว่าอินโดนีเซียครองอันดับ 1 รองลงมาคือ มาเซีย และไทย ส่วนจีนนั้นตกไปอยู่อันดับที่ 5 ของเอเชีย หรืออันดับที่ 10 ของโลก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยขาดดุลในการส่งออกสินค้าเกษตรถึง 1,637.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2532 มาเป็นเกินดุลในการส่งออกได้มากถึง 1,797.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2537 ดังนั้นจึงคาดได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จีนจะเข้ามาเป็นคู่แข่งในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่น่าจับตามอง การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 25.1 ของมูลค่าส่งออกทั้งประเทศ แม้ว่าการส่งออกของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2539 และปี 2540 จะมีการขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร แต่คาดว่าในปี 2541 จะมีการขยายตัวในการส่งออก เนื่องจากทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งประสบปัญหาในด้านการผลิตอันเกิดจากปรากฏการณ์เอลนิโน ซึ่งทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน คาดว่าความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ปัญหาโดยรวมในการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คือ ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบบางประเภทจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสัตว์น้ำทะเลแช่แข็ง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไม้ซุงและไม้ท่อน รวมทั้งมีการนำเข้าปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย โดยการพึ่งพิงวัตถุดิบและสินค้าทุนที่นำมาใช้ทางการเกษตรในช่วงปี 2536-2539 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากมูลค่า 5,638.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2536 เป็น 7,439.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ในแต่ละปี สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2540 มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบทางการเกษตรเท่ากับ 5,308.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 โดยสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้ามากที่สุด คือ สินค้าประเภทสัตว์และพืช โดยเฉพาะการพึ่งพิงการนำเข้าปลาป่น และกากพืชน้ำมันเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในช่วงปี 2536-2539 มูลค่าการนำเข้าสัตว์และพืชเพิ่มขึ้นจาก 1,060.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2536 เป็น 1,533.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.2 ในแต่ละปี สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2540 มูลค่าการนำเข้าสัตว์และพืชเท่ากับ 1,225.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 ปัญหาเรื่องมาตรฐานของสินค้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรหลายประเภทไม่มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งในเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างมากในอนาคตเนื่องจากแนวโน้มในอนาคตประเทศคู่ค้าใช้มาตรการในเรื่องสุขอนามัยและคุณภาพของสินค้านี้เป็น การกีดกันการนำเข้าโดยอ้างว่าเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนในประเทศผู้นำเข้า โดยตรงปัญหาผลผลิตสินค้า ในแต่ละปีปริมาณไม่แน่นอน ทำให้ราคาผันผวน ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของผลผลิตการเกษตร ที่ยังต้องพึ่งพิงดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อย่างไรก็ตามในประเทศที่การเกษตรมีการพัฒนาอย่างมากนั้นมีความพยายามนำเอาเทคโนโลยี มาควบคุมการผลิต โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของพืช นอกจากนี้ปัญหาในด้านการผลิตอีกประการหนึ่ง คือ มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าน้อยมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แนวโน้มในอนาคตการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหันมาเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ปัญหาเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐบาลมีผลอย่างมากต่อภาวะการผลิต และการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายในด้านการแทรกแซงตลาด นโยบายกำหนดปริมาณการนำเข้า รวมทั้งนโยบายที่มีผลต่อการควบคุมการส่งออก ผลของนโยบายเหล่านี้ทำให้กลไกตลาดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเกษตร และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร โดยเฉพาะแรงงานในภาคการประมง และแรงงานในสวนยางพารา ซึ่งทำให้ต้องมีการว่าจ้างแรงงานชาวต่างประเทศทดแทน

การเร่งเสริมจุดแข็งให้ภาคการเกษตรของไทย

นโยบายโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร โดยแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกออกอย่างชัดเจน เป็นพื้นที่ปลูกเพื่อการค้า และพื้นที่การเกษตรเพื่อความอยู่รอดหรือการเกษตรพึ่งพาตนเอง ซึ่งลักษณะของการส่งเสริมและความช่วยเหลือของภาครัฐบาลจะเป็นคนละแนวทางกัน ทำให้มีความชัดเจนในแนวนโยบายมากขึ้น

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีในด้านเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์

การพัฒนาบุคคลากรและสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 ทั้งนี้การรวมกลุ่มของเกษตรกรนั้นก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ตั้งแต่ในเรื่องการขอความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งในเรื่องวิชาการ การส่งเสริมด้านการตลาด ตลอดจนการขอกู้เงินเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการผลิต และการลงทุนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ การส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ทั้งข่าวสารด้านการผลิตและการตลาดอย่างถูกต้องและทันต่อเวลา ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นในด้านการผลิต และการตลาด

การเร่งสร้างนโยบายช่วยชาติยามคับขัน เช่น การงดรับประทานข้าวหอมมะลิ เพื่อนำเอาข้าวส่วนนี้ไปส่งออกนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา การหันมารับประทานผลไม้และผักที่ผลิตได้ภายในประเทศ รวมทั้งการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชโดยหันมาใช้ปุ๋ยคอก และยากำจัดศัตรูพืชที่ทำจากสมุนไพรทดแทน

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีศักยภาพของไทย คือ สินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร ในตลาดโลกมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร(ยกเว้นปลา) ในปี 2537 ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยอันดับที่ 1 คือ สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนร้อยละ 13.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งโลก รองลงมาคือ ฝรั่งเศสร้อยละ 9.6 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 9.3 และถ้าพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองลงมาจากจีนสัดส่วนส่งออกร้อยละ 3.9 มาเลเซีย และไทยร้อยละ 1.7 เท่ากันทั้งสองประเทศ ส่วนการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงไทยจัดอยู่อันดับ 1 ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 8.3 ของมูลค่าการส่งออกของโลกในปี 2536 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริการ้อยละ 7.7 และนอรเวร้อยละ 5.5

ถ้าพิจารณามูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอาหารปรากฏว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 5 รองจากสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสุทธิ 3,516.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้วไทยนับว่าครองอันดับ 1 รองลงมา คือ จีน มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งจีนเป็นประเทศที่น่าจับตามองมาก จากที่เคยมีภาพยึดติดว่าประชากรของจีนมีมาก น่าจะเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารมากกว่า แต่ภายหลังจากปี 2534 นั้นจีนกลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิสินค้าด้านอาหาร และมีแนวโน้มการส่งออกที่น่าจับตามอง

ในการพิจารณาสถานภาพการส่งออกสินค้าประเภทอาหารเปรียบเทียบกับการนำเข้า ปรากฏว่าไทยนั้นเกินดุลในการส่งออกสินค้าประเภทอาหารมาโดยตลอด โดยในช่วงปี 2536-2539 มูลค่าการเกินดุลในการส่งออกสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นจาก 5,322.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2536 เป็น 7,604.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2539 หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10.2 ต่อปี สัดส่วนการเกินดุลต่อการส่งออกตกประมาณร้อยละ 80 ในแต่ละปี นับว่าสินค้าประเภทอาหารมีส่วนช่วยนำเงินตราเข้าประเทศอย่างมาก และเป็นสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยเฉพาะความพร้อมของวัตถุดิบในประเทศ การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วงปี 2536-2539 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ล้านตัน มูลค่า 4,740.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2536 เป็น 2.45 ล้านตัน มูลค่า 5,817.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.8 และ 6.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2540 มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 1.84 ล้านตัน มูลค่า 4,058.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 และ 3.6 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากในปี 2540 นี้การส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป และผักผลไม้สดและแปรรูป รวมทั้งสินค้าอาหารที่นับว่าเป็นสินค้าดาวรุ่งนั้นก็มีมูลค่าการส่งออกยังไม่สูงนัก แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงก็ตาม

ปัญหาสำคัญในการส่งออกสินค้าอาหาร

ปัญหาในด้านการผลิต

- ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น วัตถุดิบในการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทปลาป่น กากถั่วเหลือง ซึ่งมีผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกไก่ และกุ้งสดแช่แข็ง นอกจากนี้ไทยยังต้องนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็ง กุ้งขนาดเล็ก ปู และปลาหมึกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง

- ความไม่แน่นอนของผลผลิต โดยความไม่แน่นอนของผลผลิตหรือวัตถุดิบในการผลิตทั้งทางด้านปริมาณ ราคา และคุณภาพ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบทางการเกษตรมีไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี คุณภาพในบางครั้งไม่ตรงตามความต้องการของโรงงาน เพราะจุดประสงค์ในการปลูกเพื่อบริโภคสด ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนตลอดทั้งปี ซึ่งโดยปกติต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมอาหารผันผวนไปด้วย ผู้ประกอบการที่อยู่รอดต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารวัตถุดิบทางการเกษตรให้มีเพียงพอ

- ผู้ผลิตเป็นรายย่อย ตลาดการส่งออกสินค้าอาหารส่วนใหญ่เป็นตลาดของผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ผลิตเป็นผู้ผลิตรายย่อยหลายราย ทำให้ขาดอำนาจในการต่อรอง และมักมีการตัดราคากันเอง รวมทั้งการส่งออกขาดเกณฑ์มาตรฐานในการส่งออก

ปัญหาในด้านการส่งออก

- ปัญหาการขาดแคลนแหล่งข้อมูลข่าวสารทั้งการผลิตและการตลาดที่ถูกต้อง โดยข้อมูลข่าวสารนั้นมีความจำเป็นอย่างมากในการวางแผนและกำหนดนโยบายร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะข้อมูลในด้านการผลิต แนวโน้มราคา ต้นทุนการผลิตทั้งของเกษตรกรและโรงงาน ลักษณะความต้องการสินค้าของประเทศผู้ซื้อ ตลอดจนข้อมูลของประเทศคู่แข่งขัน

- เผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งในด้านราคาและคุณภาพของสินค้า คู่แข่งที่สำคัญในการส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคเดียวกันกับไทย เนื่องจากสามารถผลิตสินค้าประเภทอาหารได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่งในการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด ผักผลไม้สดและแช่แข็ง

- การกีดกันทางการค้า แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้าภายหลังการเจรจาแกตต์ แต่ในปัจจุบันไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะกฎระเบียบการนำเข้าและการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานสินค้าที่เข้มงวด มาตรฐานในด้านสุขอนามัย รวมทั้งการกีดกันในเรื่องการผลิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ในกรณีของญี่ปุ่นมีกฎหมายการนำเข้าอาหารที่ต้องปฏิบัติตาม Food Sanitary Law โดยห้ามนำเข้าสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย รวมทั้งยังได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ (The Product Liability Law) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค

มาตรการเรื่องของการตรวจสอบขบวนการในการผลิต HACCP ( Hazard Analysis and Critical Control Point) ซึ่งว่าด้วยการควบคุม และตรวจสอบอย่างระมัดระวังในขบวนการผลิต รวมทั้งยังได้มีการนำระบบตรวจสอบด้วยระบบประสาทสัมผัสมาใช้ด้วยวิธีการดมกลิ่น

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าอาหาร

- การปรับมาตรการด้านภาษี การลดภาษีวัตถุดิบ และวัตถุดิบในด้านบรรจุภัณฑ์ น่าจะดำเนินนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางการเกษตรมากกว่าการดำเนินนโยบายปกป้องการผลิตภายในประเทศ รวมทั้งมีแนวโน้มว่านักลงทุนไทยย้ายฐานการลงทุนทางด้านการเกษตรไปในประเทศในแถบอินโดจีน เท่ากับว่าต่อไปอินโดจีนจะเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรของไทย

- สนับสนุนการเกษตรในลักษณะ Contact Farming และการจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อควบคุมปริมาณ ราคา และคุณภาพของสินค้าไม่ให้ผันแปรไปตามการผลิตทางการเกษตรที่ต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติค่อนข้างมาก รวมทั้งยังจะทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเป็นระบบได้มากขึ้น

- ปัจจุบันสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารนับว่ามีความสำคัญในการส่งออก แม้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไม่หวือหวาเหมือนกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยแล้วสูงถึง 6,796.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสำหรับสินค้าอาหารไทยก็ยังเกินดุลมาโดยตลอด ซึ่งสัดส่วนการเกินดุลต่อการส่งออกสินค้าอาหารนั้นสูงถึงร้อยละ 80 ในแต่ละปี ดังนั้นการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารนั้นนับว่าไม่เหลือวิสัยที่ไทยจะทำได้ เพราะเมื่อพิจารณารากฐานของปัญหาของสินค้าแต่ละประเภทแล้วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศโดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการผลิต แม้ว่าบางส่วนจะเกิดจากผลกระทบจากภายนอกอันเนื่องมาจากการกำหนดมาตรฐานสินค้าของประเทศผู้นำเข้า แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกของไทยต้องปรับตัวให้ทันกับกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา Kasikorn Research Center  เดือนมกราคม 2541 ผู้รับผิดชอบ : ปัญญภัทร ธาระวานิช 

 

 
 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว