www.Nattakae.webs.com |
ยางและผลิตภัณฑ์ : ราคาผกผัน...ตลาดในตลาดนอกแจ่มใส
บทสรุปสำหรับผู้บริหารในปี 2538 การผลิตยางของโลกมีปริมาณ 5.95 ล้านตัน เทียบกับปี 2537 แล้วปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยผลผลิตยางของมาเลเซียเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็น 1.20 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 รองลงมาคือ ไทย 1.80 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในส่วนการบริโภคยางของโลกมีปริมาณ 5.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.6 สิ่งที่น่าสังเกต คือ ในปี 2538 การบริโภคยางสังเคราะห์ขยายตัวสูงกว่าการบริโภคยางธรรมชาติมาก เนื่องจากราคายางธรรมชาติในช่วงปี 2538 อยู่ในเกณฑ์สูง ปริมาณการบริโภคยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 8.79 ล้านตันในปี 2537 เป็น 9.27 ล้านตันในปี 2538 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.5 จากภาวการณ์ที่ความต้องการยางเพิ่มสูงขึ้นทำให้ในปี 2538 ราคายางพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยราคายางธรรมชาติในประเทศซึ่งเคยตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 เริ่มดีดตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2537 จนถึงช่วงเดือนเมษายน 2538 หลังจากนั้นราคายางเริ่มลดลง แต่ก็ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกยางธรรมชาติในช่วงปี 2538 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 1.8 ล้านตัน มูลค่า 63,500 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ 51.8 ตามลำดับ โดยคู่ค้าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก แม้ว่าภาวะยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯและบางประเทศในยุโรปซบเซา ประกอบกับการให้ส่วนลดจำนวนมากแก่ลูกค้า ทำให้ตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯในปี 2538 ไม่เฟื่องฟูเท่าที่ควรก็ตาม สถานการณ์ด้านราคายางส่งออกอยู่ในระดับ 1,350 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาที่ดีมากเมื่อเทียบกับราคาในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งราคายางตกต่ำเหลือเพียง 650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ยางในช่วงระหว่างปลายปี 2537 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2538 ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราประสบมรสุมอย่างหนัก เนื่องจากราคายางในประเทศและราคายางในตลาดโลกผกผันมาก เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงกว่าช่วงที่รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ ทั้งที่ในช่วงที่ตกลงรับคำสั่งซื้อนั้นราคายางก็อยู่ในเกณฑ์สูงแล้ว ผู้ประกอบการที่สายป่านสั้นต้องประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดกิจการไปหลายราย ส่วนผู้ประกอบการที่มีสายป่านยาวสามารถประคองตัวผ่านพ้นวิกฤตการณ์ได้ ทางออกในการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยซึ่งมีการผลิตไม่ครบวงจร ก็คือ การรวมตัวกันเพื่อให้มีความสามารถที่จะผลิตได้ครบวงจร ซึ่งจะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
ยางรถยนต์ การผลิตยางรถยนต์นับเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ยางมากที่สุดถึงร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ยางเพื่ออุตสาหกรรมในประเทศ ดังนั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยางในประเทศจึงขึ้นอยู่กับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3-4 ต่อปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ในประเทศขยายกำลังการผลิตถึง 2 เท่าตัว แนวโน้มที่น่าจับตามอง คือการที่บริษัทต่างประเทศที่ผลิตยางรถยนต์ ชิ้นส่วนและอะหลั่ยรถยนต์ที่ทำจากยางย้ายฐานการผลิตทยอยเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อใช้ไทยเป็นหน้าด่านเปิดทางเข้าตลาดอินโดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง โดยเฉพาะเวียดนาม คาดว่าจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากภายใน 5 ปีต่อไปนี้ นอกจากนี้การเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยนั้นได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบ และอัตราค่าแรงที่ยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก และประเทศในแถบนี้ที่เป็นแหล่งปลูกยางพาราด้วย W ถุงมือยาง ผู้ผลิตถุงมือยาง 27 รายจากจำนวนผู้ผลิตถุงมือยางทั้งหมด 30 ราย ร่วมกันก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางในเดือนมีนาคม 2538 เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มตลาดผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ ตลอดจนเป็นการช่วยเหลือทางด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยี และข่าวสารการตลาดต่างๆ เพื่อการขยายตลาดส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาผู้ผลิตและผู้ส่งออกถุงมือยางของไทยยังไม่มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง ทำให้ไม่มีอำนาจการต่อรองทางการค้า โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดถุงมือยางในตลาดโลกร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 4,000 ล้านบาทต่อปี ผู้ผลิตถุงมือยางยังคงเน้นตลาดส่งออกมากกว่า เพราะตลาดส่งออกเป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพมากกว่า โดยที่ตลาดถุงมือยางในประเทศมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น
ถุงยางอนามัย สภาพตลาดปัจจุบันมีมูลค่ารวม 700 ล้านบาท โดยแยกเป็นตลาดการประมูลภาครัฐบาลร้อยละ 50 และอีกร้อยละ 50 เป็นตลาดทั่วไปซึ่งผู้ผลิตถุงยางอนามัยแต่ละค่ายต้องแย่งตลาดกันเอง ซึ่ง"คิงส์เท็กซ์"สามารถครองความเป็นผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 ในขณะที่"ดูเร็กซ์"ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20 พฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ ถุงยางอนามัยแบบมาตรฐาน ผิวเรียบมีสารหล่อลื่น มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 60 ถุงยางอนามัยผิวเรียบใส่สารฆ่าเชื้ออสุจิ มีส่วนแบ่งร้อยละ 25 ถุงยางอนามัยผิวไม่เรียบประมาณร้อยละ 10 และถุงยางมีกลิ่นต่างๆ ประมาณร้อยละ 5 ตลาดถุงยางอนามัยมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 10-15
ยางรัดของ เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา มาเลเซียครองตลาดยางรัดของโดยมีโรงงานในมาเลเซียถึง 10 โรงงาน แต่ปัจจุบันโรงงานยางรัดของในมาเลเซียเหลือเพียงโรงงานเดียวซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่น เดิมนั้นตลาดในต่างประเทศไม่ยอมรับยางรัดของจากไทย แม้ว่าราคาจะถูกกว่ามาเลเซีย แต่ในปัจจุบันไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการผลิตยางรัดของที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก จำนวนโรงงานผลิตยางรัดของในประเทศมีอยู่ประมาณ 30 โรง ตลาดส่งออกยางรัดของที่น่าสนใจ คือ ประเทศแถบยุโรปซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการใช้ยางรัดของสูงขึ้น เนื่องจากมีการออกกฎหมายห้ามใช้ยางรัดพลาสติก คู่แข่งที่สำคัญ คือ ศรีลังกา เวียดนาม และพม่า ประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาการผลิตยางรัดของ มีข้อได้เปรียบที่ราคาถูกกว่า ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันในอนาคต
ปัจจุบันภาวะตลาดยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการในตลาดโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี คาดว่าในปี 2539 ประมาณการผลิตภัณฑ์ประเภทยางพาหนะจะมีประมาณ 12 ล้านเส้น ยางรัดของ 32,692 ตัน และถุงมือยาง 30,687,470 พันคู่ หรือเมื่อเทียบกับปี 2538 แล้วขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 , 1.0 และ 10.0 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 23,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19.6 โดยแบ่งเป็นประเภทยางพาหนะมีอัตราการขยายตัวสูงสุดร้อยละ 12 ซึ่งขยายตัวตามความต้องการของตลาดโลก ในอนาคตการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ยางจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ที่มา Kasikorn Research Center 5 มีนาคม 2539