www.Nattakae.webs.com |
ราคายางดีดตัวต่อเนื่อง : การผลิตขยายตัวไม่ทันความต้องการใช้
บทสรุปสำหรับผู้บริหารในวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 นี้จะเป็นวันแรกที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของไทยจะเปิดดำเนินการ โดยสินค้าเกษตรตัวแรกที่จะมีการซื้อขายคือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ซึ่งน่าจับตามองว่าการมีตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้านี้จะส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมยาง โดยเฉพาะราคายาง เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าราคายางจะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง
ราคายางในตลาดทุกระดับปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 และมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นราคายางที่สูงมากเป็นประวัติการณ์โดยทำลายสถิติราคายางที่เคยอยู่ในเกณฑ์สูงมากในเดือนมีนาคม 2538 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กันว่าราคายางจะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการยางพาราในตลาดต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตยางนั้นเพิ่มขึ้นไม่ทันกับการขยายตัวของความต้องการใช้ยาง ปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญ การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีน
นอกจากนี้ในประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลกยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางระหว่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย รวมทั้งมีแนวโน้มจะดึงเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการซื้อขายยางเป็นสินค้าตัวแรกในวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการนี้จะส่งผลให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีกับชาวสวนยาง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ
ผลจากการคาดการณ์ผลผลิตและความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลก ทำให้สรุปได้ว่าราคายางธรรมชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคายางธรรมชาติอาจจะสูงถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลกรัมในปี 2548 อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าความต้องการยางธรรมชาติจะยังคงขยายตัวอย่างก้าวกระโดดต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ความต้องการยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านตัน โดยความต้องการยางที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากจีน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในขณะที่ยังไม่มีสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าผลผลิตยางธรรมชาติจะมีการขยายตัวอย่างชัดเจน ดังนั้นความต้องการยางธรรมชาติจะสูงกว่าปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ ทำให้คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนยางธรรมชาติตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการกรีดยาง และค่าจ้างในการกรีดยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตยางในประเทศผู้ผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีปัญหาในการปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงกว่าต้นยางที่มีอายุมากแล้ว และความยากลำบากในการหาพื้นที่เพื่อขยายการปลูกยาง
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผลกระทบต่อเนื่องของการที่ราคายางสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีดังนี้
1. รายได้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกรอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 20 บาท ดังนั้นการที่ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมามีผลทำให้สภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนของชาวสวนยางดีขึ้น หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ราคายางที่เกษตรกรขายได้นั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จนทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคายาง
2. ยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์หรือรถปิกอัพ และมอเตอร์ไซค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายได้ของชาวสวนยางและสินค้าเกษตรสำคัญหลายประเภทที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ยอดจำหน่ายรถปิกอัพและมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นตามไปด้วยกล่าวคือ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2547 ยอดจำหน่ายรถปิกอัพเพิ่มขึ้นเป็น 75,181 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 ส่วนยอดจำหน่ายรถมอร์เตอร์ไซด์ 507,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
3. ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้น ผลกระทบของราคายางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนในกรณีที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าไปแล้ว และทำให้หลายโรงงานไม่กล้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเนื่องจากไม่มั่นใจว่าราคายางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญนั้นจะดีดตัวขึ้นไปอีกมากน้อยเท่าใด เนื่องจากในปัจจุบันแม้ว่าราคายางธรรมชาติยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ความต้องการก็ยังคงสูงด้วย อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ผู้ผลิตไม่ได้หันไปใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบทดแทนยางธรรมชาติ
ที่มา Kasikorn Research Center ปีที่ 10 ฉบับที่ 1457 วันที่ 14 พฤษภาคม 2547