www.Nattakae.webs.com |
ปี 2546-2547 ... ราคายางดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทสรุปสำหรับผู้บริหารราคายางในตลาดทุกระดับปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 และมีการปรับตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงต้นปี 2546 ซึ่งนับว่าเป็นราคายางที่สูงมากเป็นประวัติการณ์โดยทำลายสถิติราคายางที่เคยอยู่ในเกณฑ์สูงมากในเดือนมีนาคม 2538 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กันว่าราคายางจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดช่วงปี 2546 ต่อเนื่องถึงในปี 2547 อันเป็นผลมาจากความต้องการยางพาราในตลาดต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตยางนั้นเพิ่มขึ้นไม่ทันกับการขยายตัวของความต้องการใช้ยาง ปัจจัยสำคัญคือ การฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญ การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 10-15 และจะทำให้จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านตลาดรถยนต์อันดับ 3 ของโลกแซงหน้าเยอรมนีไปในที่สุด
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าผลกระทบต่อเนื่องของการที่ราคายางสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีดังนี้
1. รายได้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น ปัจจุบันต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกรอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 20 บาท ดังนั้นการที่ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นนี้มีผลทำให้สภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนของชาวสวนยางดีขึ้น หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปี 2542 เป็นต้นมานั้นราคายางที่เกษตรกรขายได้นั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จนทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคายาง
2. ยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์หรือรถปิกอัพ และมอเตอร์ไซค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายได้ของชาวสวนยางเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ยอดจำหน่ายรถปิกอัพและมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย กล่าวคือ ในปี 2546 คาดว่ายอดจำหน่ายรถปิกอัพเพิ่มขึ้นเป็น 415,593 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.0 และยอดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 1,457 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7
3. ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสูงขึ้น ผลกระทบต่อเนื่องของราคายางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุนในกรณีที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าไปแล้ว และทำให้หลายโรงงานไม่กล้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเนื่องจากไม่มั่นใจว่าราคายางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญนั้นจะดีดตัวขึ้นไปอีกมากน้อยเท่าใด เนื่องจากในปัจจุบันแม้ว่าราคายางธรรมชาติยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ความต้องการก็ยังคงสูงด้วย อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ผู้ผลิตไม่ได้หันไปใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบทดแทนยางธรรมชาติ
สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง คือ
1. ความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่กำหนดราคายางสังเคราะห์ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนยางธรรมชาติได้สำหรับผลิตภัณฑ์ยางหลายประเภท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางวงล้อ ดังนั้นตราบใดที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์สูงก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบให้ความต้องการยางธรรมชาติลดลง
2. การเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลก คือ ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยแต่ละประเทศจะลดปริมาณการผลิตยางลงร้อยละ 4 ต่อปี และลดปริมาณการส่งออกลงร้อยละ 10 ต่อปี โดยเริ่มดำเนินการในปีนี้ ซึ่งคาดว่าคงจะต้องมีการเจรจากันใหม่ โดยคาดว่าจะต้องมีการเพิ่มทั้งปริมาณการผลิตและการส่งออกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก นอกจากนี้บริษัทร่วมทุนค้ายางยังมีการรับเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในปีนี้ด้วย สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ การคาดการณ์อย่างถูกต้องและแม่นยำในการเพิ่มผลผลิตและการส่งออก รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตยางของประเทศผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆเนื่องจากราคายางที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจ
3. การส่งออกยางไปตลาดจีน ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศผู้ใช้ยางอันดับหนึ่งของโลก และการขยายตัวอย่างมากของความต้องการยางในตลาดจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคายางในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าในปี 2546 จีนจะต้องนำเข้ายางธรรมชาติ 900,000 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2545 ที่มีการนำเข้าเพียง 400,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.25 เท่าตัว ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถส่งออกไปได้ 400,000 ตันจากที่เคยมีการส่งออกในแต่ละปีได้เพียง 280,000-300,000 ตันเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการส่งออกยางไปยังตลาดจีนแล้วไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากมาเลเซียและเวียดนาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาตลาดจีนเอาไว้ไม่ให้คู่แข่งอย่างมาเลเซียและ เวียดนามเข้ามาเบียดแย่งตลาดไปได้มากกว่านี้ ทั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพราคายางในประเทศด้วย
ที่มา Thai Farmers Research Center ปีที่ 9 ฉบับที่ 1212 วันที่ 7 มีนาคม 2546