www.Nattakae.webs.com |
จีน ... คู่ค้ายางที่น่าจับตามอง
บทสรุปสำหรับผู้บริหารปัจจุบันจีนมีความสามารถในการผลิตยางธรรมชาติเพียงปีละ 0.5 ล้านตัน ในขณะที่มีความต้องการยางธรรมชาติมากกว่าที่ผลิตได้ ทำให้จีนต้องพึ่งพาการนำเข้า แม้ว่าจีนมีนโยบายสนับสนุนการผลิตยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด ทำให้จีนไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกยางเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการได้ โดยพื้นที่ปลูกยางส่วนใหญ่ของจีนอยู่ทางตอนใต้แถบจังหวัดไฮนานและยูนาน ปัจจุบันจีนปกป้องผู้ผลิตยางในประเทศโดยการใช้ระบบโควตานำเข้า แต่ตามภาระผูกพันกับองค์การการค้าโลกจีนต้องเพิ่มโควตาการนำเข้าจาก 4.29 แสนตัน เป็น 6.52 แสนตันในปี 2547 ซึ่งเป็นไปตามข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลกที่จีนจะต้องเปิดตลาดนำเข้ายางเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี และระบบโควตานำเข้าจะถูกยกเลิกไปในปี 2547 คาดว่าความต้องการยางธรรมชาติในปี 2545 ภายหลังจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้วอาจสูงถึง 1.5 ล้านตัน เท่ากับว่าจีนต้องเปิดโควตานำเข้า 1 ล้านตัน ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีในการส่งออกยางของไทย ปัญหาการส่งออกยางไปจีนคือ การเก็บภาษีผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอัตราที่สูง ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อขอลดอัตราภาษีโดยขอ สิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันทั้งนี้เพื่อ ให้ได้สิทธิพิเศษเช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกยางของไทยในตลาดนี้ นอกจากนี้การผลักดันให้เอกชนจีนเข้ามาลงทุนธุรกิจแปรรูปยางพารา ในไทยเพื่ออาศัยความชำนาญด้านการค้าในจีนเพิ่มช่องทางส่งยางจากไทยไปป้อนตลาดจีนเนื่องจากในปัจจุบันจีนมีโรงงานแปรรูป จำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากการนำเข้าก็นับว่าเป็นลู่ทางที่น่าสนใจที่จะช่วย สนับสนุนการส่งออกยางของไทยเข้าไปในตลาดจีนในอนาคต
ปัจจุบันผู้ส่งออกยางไทยให้ความสนใจตลาดจีนมากขึ้น และผู้ส่งออกยางของไทยหลายรายต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าจีน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนหรือทำตลาดกับจีนโดยตรงได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากผู้นำเข้าจีนสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้งมีปริมาณกว่า 1,000 ตันขึ้นไป หากเป็นโรงงานขนาดเล็กจะมีปัญหาในการจัดหาสินค้าเพื่อส่งออก ปัจจุบันทางสมาคมยางพาราไทยสนับสนุนผู้ส่งออกยางให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดจีนให้มากขึ้น โดยการจัดคณะผู้แทนการค้ายางพาราไปยังประเทศจีนจำนวน 2 คณะในแต่ละปี คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้การส่งออกยางไทยไปยังตลาดจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้สมาคมฯเสนอกระทรวงพาณิชย์ทำแผนจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ติดต่อกันเพื่อให้สามารถติดต่อกับผู้ค้าในจีนได้ทั้ง 4 ภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตพบกับผู้นำเข้าของประเทศจีน ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้ากับผู้ใช้โดยตรงมากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการตั้งบริษัทร่วมทุนของผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นบริษัทกลางในการซื้อขายยางในตลาดกลางสิงคโปร์ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี นับว่าเป็นบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชนในการผลักดันให้มีการขยายตลาดยางในจีน
ที่มา Kasikorn Research Center ปีที่ 8 ฉบับที่ 1094 วันที่ 18 กรกฎาคม 2545