www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ยางปี'45 : ครึ่งปีแรกสดใส ... ครึ่งหลังแม้ราคาลดแต่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ในช่วงครึ่งแรกปี 2545 ราคายางในประเทศในตลาดทุกระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า ทั้งตลาดโตเกียวและสิงคโปร์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยระดับราคายางอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2539 เป็นต้นมา กล่าวคือนับจากต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาราคายางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 21-22 บาท และมาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2545 ในราคา 37 บาท/กิโลกรัม ราคายางแผ่นดิบเมื่อสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 31-32 บาท/กิโลกรัม แม้ว่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคมราคายางปรับตัวลงเล็กน้อย โดยสาเหตุมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาจากข่าวต่างๆ โดยเฉพาะข่าวการเทขายสต็อกยาง 1.3 แสนตันของรัฐบาลไทย แต่คาดว่าราคายางในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 27-29 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่น่าพอใจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิต หากดูสถิติแล้วจะพบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ทำให้ราคายางแผ่นดิบโดยเฉลี่ยในช่วงนี้ของทุกปีลงลดต่ำลง เพราะถือว่าตลาดเป็นของประเทศผู้ซื้อเนื่องจากมีผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 3 ประเทศคือมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทยออกสู่ตลาดโลกมาก และราคายางโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี

สาเหตุที่ผลักดันให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยางพาราขาดตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจนเกิดการแข่งขันกันเพื่อซื้อยาง โดยปริมาณยางในประเทศผู้ผลิตยางหลักทั้งในไทยและอินโดนีเซียมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งผู้ค้าส่งยางต้องส่งมอบยางตามสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าทำให้ต้องเร่งออกมารับซื้อยางเพื่อให้ทันการส่งมอบ รวมทั้งความต้องการยางของประเทศผู้ใช้ยางก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ทั้งผลทางจิตวิทยาของการรวมตัวระหว่างประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ คือ ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระตุ้นให้ราคายางในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2545

ซึ่งราคายางที่อยู่ในเกณฑ์สูงนี้นับว่าเป็นผลดีกับเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากราคายางที่ขายได้สูงกว่าต้นทุนการผลิตประมาณกิโลกรัมละ 8 บาท จากที่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับโรงงานผลิตภัณฑ์ยางและผู้ส่งออกมองว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเกินความคาดหมาย และทำให้ต้องประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากราคายางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ส่งออกต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าในราคาต่ำ

นอกจากการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอันแจ่มใสของชาวสวนยาง รวมทั้งบรรดาโรงงานยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้นแล้ว ตลอดจนถึงแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปี 2545 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าแนวโน้มระยะยาวของธุรกิจยางสดใสต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลมาจากหลากปัจจัยหนุน ได้แก่

1. ความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยให้แต่ละประเทศไปลดกำลังการผลิตยางภายในประเทศประเทศลงร้อยละ 4 และข้อตกลงในการลดการส่งออกยางร้อยละ 10 ของการส่งออก แนวทางดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ในแง่ของราคาและการตลาดของประเทศผู้ผลิตและส่งออก คาดว่าจะมีผลทำให้ราคายางในตลาดโลกมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตและความต้องการจะปรับลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนโยบายความร่วมมือด้านยางระหว่างทั้งสามประเทศนั้นเริ่มมองเห็นผลสำเร็จโดยราคายางในภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2544 เป็นต้นมา ประกอบกับผู้ผลิตยางล้อยานพาหนะเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากยอดจำหน่ายยานพาหนะในปี 2544 มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา

2. การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกน้ำยางข้น แนวทางที่ทำให้ไทยมีบทบาทในการกำหนดราคาน้ำยางข้นของโลก เนื่องจากในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุด จากเดิมที่มาเลเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ส่วนอินโดนีเซียผู้ผลิตยางรายใหญ่อันดับ 2 รองจากไทยก็มีการผลิตและส่งออกน้ำยางข้นไม่มากนัก รวมไปถึงประเทศเวียดนามก็มีการผลิตไม่มากนักเช่นกัน ในอนาคตหากภาคเอกชนร่วมมือกันได้ ไทยก็สามารถชี้นำราคาน้ำยางข้นของโลกได้ เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้

3. แผนปฏิรูประบบยางไทยจัดตั้งสภาการยางไทย เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาการบริหารงานเรื่องยางของแต่ละหน่วยงานเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้นจึงได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบยางใหม่ทั้งระบบ โดยการจัดตั้งสภาการยางไทยเพื่อที่จะทำให้การบริหารนโยบายต่างๆเกี่ยวกับยางเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้ายางยังดำเนินการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกน้ำยางข้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการน้ำยางข้นเพื่อเป็นวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจยางไทยยังคงสดใสต่อไปในอนาคต

 

ที่มา Kasikorn Research Center ปีที่ 8 ฉบับที่ 1287 วันที่ 19 กรกฎาคม 2545

 
 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว