www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ยางปี'44 และแนวโน้มปี'45 ... ทิศทางที่น่าจับตามอง

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ภาวะการค้ายางในปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ซบเซา เนื่องจากหลากหลายปัจจัยที่ยังคงมีผลทำให้ราคายางในตลาดโลกไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นไม่ว่าจะเป็นปริมาณสต็อกในประเทศผู้ใช้ยางที่อยู่ในเกณฑ์สูง และการระบายสต็อกยางขององค์การยางธรรมชาติระหว่างประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญของโลก ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางของไทยต้องเริ่มปรับตัวโดยหันไปผลิตยางแท่งซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่ายางแผ่น และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแทนที่จะส่งออกในลักษณะสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อที่จะลดผลกระทบจากการที่ตลาดส่งออกมีปัญหา

คาดว่าปริมาณการผลิตยางธรรมชาติในปี 2545 จะมีปริมาณทั้งสิ้น 2.3-2.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2-6.6 ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพอากาศ คาดว่าถ้าสภาพอากาศเอื้ออำนวยคาดว่าปริมาณการผลิตยางน่าจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็คงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการที่ราคายางยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นนับว่าไม่เป็นแรงจูงใจให้ชาวสวนยางเปิดกรีดยาง ส่วนภาวะการตลาดขึ้นกับปริมาณความต้องการยางในตลาดโลก ถ้าภาวะเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมดีขึ้น และปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มสูงซึ่งมีผลต่อราคายางสังเคราะห์ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้อยู่ในเกณฑ์สูงด้วยแล้ว ปริมาณความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องให้ราคายางในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามรัฐบาลคงต้องเร่งผลักดันการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตยาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางธรรมชาติในระยะยาว รวมทั้งเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ธุรกิจยางในประเทศได้รับผลกระทบน้อยลงจากความผันผวนของตลาดยางโลก และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แทนที่การส่งออกวัตถุดิบและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปเช่นในปัจจุบัน

 

ที่มา Kasikorn Research Center ปีที่ 7 ฉบับที่ 923 วันที่ 1 สิงหาคม 2544

 
 
 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว