www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ทิศทางตลาดยางไทย ... หลังอินโรยุบองค์กร

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

จากมติที่ประชุมสมัชชายางครั้งที่ 14 ขององค์การยางธรรมชาติระหว่างประเทศหรืออินโร ที่ประเทศมาเลเซียในระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2542 ให้ยกเลิกอินโร โดยมีผลปฏิบัติในวันที่ 13 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นการยกเลิกก่อนที่การประกาศถอนตัวออกจากอินโรของมาเลเซียจะมีผลบังคับ 2 วัน (การถอนตัวของมาเลเซียมีผลบังคับในวันที่ 15 ตุลาคม 2542) สำหรับการเสนอถอนตัวออกจากอินโรของไทยนั้นมีผลในเดือนมีนาคม 2543

อินโรเริ่มมีปัญหาในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศสมาชิกคือ มาเลเซีย ไทย และศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกมีมติจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก เพราะอินโรไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่องได้ และในช่วงที่ผ่านมาประเทศผู้ผลิตยางตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบมาโดยตลอด เนื่องจากไม่สามารถกำหนดบทบาทของอินโรได้มากนัก เพราะมีเสียงลงมติเพียง 6 เสียงเทียบกับประเทศผู้ใช้ยางที่มีเสียงอยู่ด้วยกันถึง 22 เสียงไม่ได้

ผลกระทบต่อตลาดยางในกรณีที่มีการยุบอินโร คือ ราคายางในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ซื้อยางจะมองว่าต่อไปนี้ราคายางจะไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ผู้ซื้อยางอาจจะหันไปซื้อยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลกระทบนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะทำให้ราคายางตกต่ำลงมากน้อยเพียงใดเนื่องจากในปัจจุบันยังมีปัจจัยบวกเอื้อต่อตลาดยางอยู่ และผลกระทบจากการระบายสต็อกยางของอินโร อินโรมียางอยู่ในสต็อกประมาณ 138,000 ตัน มีการกำหนดให้ระบายสต็อกยางเป็นเวลา 3 ปี

ประเทศผู้ผลิตก็ยังมีกลไกที่จะรักษาราคายางในตลาดโลกไว้ได้โดยผ่านทางองค์กรความร่วมมือประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อตัดสินใจในแผนการปฏิบัติการณ์รองรับการยุบองค์กรอินโร อีกความหวังของไทยอยู่ที่ความร่วมมือกับมาเลเซีย ซึ่งไทยและมาเลเซียได้ลงนามร่วมในบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านยางพาราเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2542 หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี คือ คณะกรรมการด้านยางพาราระดับรัฐมนตรีไทย-มาเลเซีย(TMMCR) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านราคาและการค้า และคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อตกลงที่ได้ไปเสนอทางรัฐมนตรีอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย คาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะมีการเจรจานอกรอบกันที่สิงคโปร์ ซึ่งถ้าอินโดนีเซียเข้ามาร่วมในการพัฒนายางจะทำให้ความร่วมมือนี้มีความเข้มแข็งและมีพลังในการต่อรองกับประเทศผู้ซื้อมากขึ้น เนื่องจากได้ประเทศผู้ผลิต 3 อันดับแรกของโลกเข้ามาอยู่ในองค์กรเดียวกัน

 

ที่มา Kasikorn Research Center ปีที่ 5 ฉบับที่ 643 วันที่ 15 ตุลาคม 2542

 
 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว