www.Nattakae.webs.com |
ความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของยางพารา
ยางพารา เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หากได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลดีต่อประเทศ และเกษตรกร ชาวสวนยาง อย่างมหาศาล ซึ่งหากพิจารณาด้านต่างๆแล้ว ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นในการส่งเสริมอาชีพและมีโอกาสในการพัฒนา ดังนี้
1. ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ยางพารามีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ 3 ด้าน คือ
1.1 ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2543 มีมูลค่ารวม 134,143 ล้านบาท เฉพาะการส่งออกยางซึ่งเป็นวัตถุดิบ 60,743 ล้านบาท เป็นสินค้าที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของการส่งออก
1.2 การกระจายรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอาชีพทำสวนยางพารามีกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ ยางพารา จึงเป็นพืชที่ทำให้ทีการกระจายรายได้ให้เกษตรกร เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1.3 เกษตรกรมีรายได้แน่นอนและเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากสถิติยางพาราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 ซึ่งผลผลิตเฉลี่ย 60 กก./ไร่/ปี เมื่อมีการปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2543 ผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 268 กก./ไร่/ปี เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ในช่วง 35 ปี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้จากการทำสวนยางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นพืชที่ปลูกแล้ว มีรายได้สม่ำเสมอเกือบตลอดทั้งปี ราคาผันผวน ไม่มากนักจึงสร้างรายได้ที่แน่นอนให้แก่เกษตรกร ผู้ปลูกยางมากกว่าปลูกพืชชนิดอื่นๆ
2. ความสำคัญทางสังคม
ยางพาราเป็นพืชที่ทำให้เกิดการสร้างงานในชนบทหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีการใช้แรงงาน ในครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดปี จึงสามารถตรึงแรงงานให้อยู่ในพื้นที่ได้ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทสู่เมือง ทำให้สังคมครอบครัวอบอุ่น จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เมื่อมีการปลูกยางในภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ สามารถลดการเคลื่อนย้าย แรงงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 28
3. การรักษาสภาพแวดล้อม
ยางพาราเป็นพืชที่ทีอายุมากกว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศมากกว่า 12.3 ล้านไร่ กระจายอยู่ทุกจังหวัดในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยางพาราจึงเป็นพืชทดแทนป่าไม้ที่ลดจำนวนลง เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้มีมากขึ้น อีกทั้งภายใน สวนยางยังมีพืชอื่นๆ สามารถปลูกร่วมยางได้ จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวีภาพมากขึ้น เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆตามธรรมชาติ
4. อุตสาหกรรมไม้ยางพารา
เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากประเทศ ต่างๆ เกือบทั่วโลก มีการปิดป่าทำให้เกิดการขาดแคลน ไม่ในการบริโภคไม้ยางพารา จึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น นอกจากทำรายได้ให้เกษตรกร ชาวสวนยางอีกทางหนึ่งแล้ว ยังทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศมากขึ้น จากการส่งออก ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2541 ประเทศไทยส่งออกไม้ยางพาราคิดเป็นมูลค่า 22,289 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2543 เพิ่มขึ้นเป็น 31,374 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 41
5. อุตสาหกรรมยางพารา
ผลผลิตของยางพารายังสามารถพัฒนาต่อไปได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางใช้กับชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก เช่น ยางรถยนต์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น หากมีการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เขื่อนยาง ใช้ยางพาราทำถนน เป็นต้น จะทำให้มีการ ใช้ยางมากขึ้น และหากมีการสนับสนุน ให้มีการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น จะทำให้รายได้จากยาง ที่เป็นมูลค่ามากขึ้นด้วย จากการนำเสนอโอกาสในการพัฒนาของประเทศไทย ที่ได้เกล่ามาแล้ว จะเห็นได้ว่า ยางพารามีความสำคัญ กับประเทศหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การรักษาสภาพแวดล้อม และช่องทางในการ นำยางพาราซึ่งส่งออกต่างประเทศ ในลักษณะวัตถุดิบมาพัฒนาในการทำผลิตภัณฑ์ยาง ในประเทศให้มีจำนวนและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น
ที่มา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง