www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

การเปิดกรีดหน้ายาง

การวัดขนาดของต้นยาง ใช้เชือกยาว 50 เซนติเมตร วัดขนาดของต้นยาง ในช่วงความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร หากปลายเชือกทั้งสองไม่ซ้อนกัน
ก็แสดงว่าต้นยางได้ขนาด 50 เซนติเมตร หรือโตกว่าแสดงว่าเปิดกรีดได้


การวัดความสูงของรอยกรีด โดยตั้งไม้เปิดกรีดให้แนบสนิทกับต้นยาง ให้ปลายที่ไม่มีแผ่นสังกะสีตั้งอยู่บนพื้นดิน แผ่นสังกะสี หันปลายไปทาง ซ้ายมือ บังคับรอยต่อระหว่างไม้กับแผ่นสังกะสีให้อยู่คงที่

การทำไม้เปิดกรีด

- ตัดไม้ระแนงความยาวตามความสูงของรอยเปิดกรีด (150,100,75 หรือ 50 เซนติเมตร) ปลายด้านหนึ่งตัดเป็น มุม 30 องศา กับแนวระดับ

- ใช้ตะปูตอกแผ่นสังกะสีติดกับไม้ตามแนวเฉียงที่ตัดไว้ แผ่นสังกะสีใช้ขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร

- ใช้เชือกฟางยาว 50 เซนติเมตร โดยแบ่งครึ่งผูกติดกับตะปูบนแผ่นสังกะสีที่ตอกติดไว้ ครั้งแรก

การทำรอยกรีด กดแผ่นสังกะสีให้แนบกับต้นยางตามแนวลาดเอียงของแผ่นสังกะสี แล้วใช้ชอล์ก หรือตะปู ทำเครื่องหมายบนต้นยาง ตามแนวด้านบน ของแผ่นสังกะสีลงมาตามแนวไม้เปิดกรีดจะได้รอยกรีด และรอยแบ่งครึ่งด้านหน้า หรือทางไหลของน้ำยาง

การวัดความยาวของรอยกรีด กรีดครึ่งต้น นำเชือกอีกเส้นโอบรอยต้นยางแล้วนำมาพับแบ่งครึ่ง ซึ่งจะได้ความยาวครึ่งหนึ่งของลำต้น นำเชือก ที่พับครึ่งมาทาบกับต้นยาง โดยปลายด้านหนึ่งอยู่ตรงรอย แบ่งครึ่งด้านหน้าและทำมุมฉาก กับรอยแบ่งครึ่ง ทำเครื่องหมาย ตรงจุดที่ 1 และเลื่อนต่ำลงมาตรงจุดที่ 2

การทำรอยแบ่งครึ่งด้านหลัง ลากเส้นตรงจากรอยกรีดผ่านจุดที่ 1 และ 2 จะได้รอยแบ่งครึ่งด้านหลัง

การติดรางรองรับน้ำยางและลวดรับถ้วยน้ำยาง ติดรางรองรับน้ำยางห่างจากรอยกรีดด้านหน้าลงมาประมาณ 25-30 เซนติเมตร และติดลวด รับถ้วยน้ำยาง โดยห่างจากรางรองรับน้ำยาง ลงมาประมาณ 10 เซนติเมตร



ตำแหน่งต่าง ๆ ที่ได้จากวิธีทำเครื่องหมายเพื่อหมายเพื่อเปิดกรีดหน้ายาง คือ ความสูงของรอยกรีด 150, 100, 75, หรือ 50 เซนติเมตร ความลาดเอียงของรอยกรีด 30 องศากับแนวระดับ ขนาดของต้นที่จะเปิดกรีดวัดที่ความสูง 150 เซนติเมตร ได้ไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ความยาวของรอยกรีดครึ่งลำต้น ระยะจากรอยกรีดถึงรางรองรับน้ำยางประมาณ 25-30 เซนติเมตร ระยะจากรางรองรับน้ำยาง ถึงปากถ้วย ประมาณ 10 เซนติเมตร

เรื่องที่ควรทราบเพื่อการกรีดยางที่ดี

การเปิดกรีดครั้งแรก หลังจากที่ทำรอยและเครื่องหมายต่างๆ เรียบร้อยแล้ว การเปิดกรีดตามรอยกรีด เป็นมุม 30 องศา ครั้งแรก ควรกรีดให้ลึกพอที่น้ำยาง จะซึมออกมา ในวันที่สองก็กรีดให้ลึกลงไปอีก การกรีด 2 วันแรก ก็เป็นเสมือนเตือนต้นยาง และในวันที่สาม ก็กรีดให้ลึกพอดีที่จะเอาน้ำยางได้

ความสูงของรอยกรีด ความสูงโดยทั่วไป จะเปิดกรีดที่ความสูง 150 ซม. แต่สามารถเปิดกรีดในระดับที่ต่ำกว่านี้ เช่น ที่ความสูง 100 ซม. ก็ได้ เพราะจะสะดวก และง่ายโดยเฉพาะ กับแรงงานกรีดยางที่ยังไม่เชี่ยวชาญมากนัก การเปิดกรีดที่ระดับต่ำ จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เปิดกรีดที่ความสูง 100 เซนติเมตร ผลผลิตเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ เปิดกรีดที่ความสูง 75 เซนติเมตร ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เปิดกรีดที่ความสูง 50 เซนติเมตร ผลผลิตเพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ การเปิดกรีดที่ระดับความสูง 50 เซนติเมตร ในหน้ากรีดแรกจะต้องกรีดให้ได้อย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี และการเปิดกรีดหน้าที่ 2 จะต้องเปิดกรีดที่ระดับความสูง 150 เซนติเมตร อนึ่ง การเปิดกรีดที่ตำแหน่งใดก็ตาม ต้นยางต้องได้ขนาด 50 ซม.ที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 ซม. เสมอ

ทิศทางการกรีด พันธุ์ยางโดยทั่ว ๆ ไป จะต้องกรีดจากซ้ายลงมาขวา เพราะเป็นการกรีดที่ตัดท่อน้ำยางได้เป็นจำนวนมากที่สุด โดยท่อน้ำยาง จะไหลเวียนจากขวาบนมาซ้ายล่าง โดยทำมุมเอียง ประมาณ 3 องศา การกรีดผิดทิศทาง จะทำให้ผลผลิต ลดลง 8-10%

มุมกรีดที่พอเหมาะ มุมกรีดควรมีความลาดเอียงประมาณ 30 องศา (สำหรับยางติดตา) และ 25 องศา สำหรับต้นกล้ายาง การกรีดที่ทำมุม 40-45 องศา แม้จะทำให้ได้น้ำยางมากขึ้น ขี้ยางบนรอยกรีดจะเหลือน้อย (บาง) ลง แต่จะทำให้จำนวนต้นที่กรีดได้น้อยลง (ในเวลาที่เท่ากัน) และในระดับต่ำลงมาจะทำให้กรีดลำบาก การสิ้นเปลืองเปลือกจะมากด้วยเช่นกัน

การกรีดแบบกระตุกมีด การกรีดแบบดั้งเดิมจะเป็นวิธีลากด้วยท่อนแขน ซึ่งมักจะทำให้การกรีดช้า ขี้ยางมักจะยาวและใหญ่หนา เวลากรีดบาด ก็จะบาดแผลยาวมากกว่า การกรีดที่ถูกหลักวิชา โดยการกระตุกมีดหรือกระตุกข้อมือ ซึ่งจะง่าย เบามือ และกรีดได้เร็วกว่า และทำให้ได้น้ำยางมากกว่า เพราะการกระตุกมีดเป็นการเฉือนเปลือกยางของคมมีดที่เร็วกว่าการลากด้วยท่อนแขน

ความลึกในการกรีด ต้องกรีดให้ลึกมากที่สุด แต่ต้องไม่ถึงเยื่อเจริญ ควรห่างจากเยื่อเจริญประมาณ 0.5-1.0 มม. ทั้งนี้เพื่อให้ได้น้ำยางมากที่สุด การกรีดถึงเยื่อเจริญพอดีหรือกรีดบาด (ไม่มีชั้นของเปลือกยางเหลือปิดเยื่อเจริญ) ในหน้าแล้ง อาจเสี่ยง ต่อการที่เนื้อเจริญแห้งตาย และในหน้าฝน อาจเสี่ยงต่อการเข้าทำลาย ได้อย่างง่ายของเชื้อราที่ เป็นสาเหตุของโรคหน้าเปื่อยและโรคเส้นดำ

ความหนาบางของการกรีด การกรีดขี้ยางบางเกินไป ก็ไม่สามารถให้น้ำยางได้มากที่สุดได้ ในขณะที่การกรีดขี้ยางหนาเกินไป ก็ทำให้สิ้นเปลืองเปลือก ความหนาบาง ของขี้ยาง ในการกรีดแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 1.2-1.7 มม. หรือ 2.5 ซม./เดือน หรือ 150 ซม./5 ปี หากกรีดได้ตามนี้จะสามารถกรีดได้นาน 25 ปี

ช่วงเวลากรีด การกรีดในช่วงที่มีอุณหภูมิของอากาศต่ำ เพราะจะทำให้ระยะเวลาของการไหลของน้ำยางยาวนานก่อนที่จะแข็งตัวและหยุดไหล ซึ่งก็จะทำให้ได้น้ำยางมาก โดยทั่วไปชาวสวนยังนิยมกรีดยางในเวลากลางคืน เช่น ในเวลา 01.00-04.00 น. แต่อย่างไร ก็ตามสามารถกรีดตอนเช้าตรู่ (06.00 น.) ได้เช่นกัน โดยผลผลิตอาจต่ำกว่าเพียง 4-5% เท่านั้น แต่ก็สามารถประหยัด ค่าใช้จ่ายด้านอื่นลงได้ เช่น ตะเกียงแก๊ส, ถ่ายหิน นอกจากนี้ก็ยังลดอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจากสัตว์ร้ายหรือโจรผู้ร้ายและยังเป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะได้นอนหลับพักผ่อน เต็มที่ไม่ต้องตื่นตอนดึก ๆ เพื่อลุกขึ้นมาทำงานหนัก

ความยาวของรอยกรีดและความถี่ในการกรีด  เรื่องความยาวของรอยกรีดและความถี่ในการกรีดนี้ ในทางวิชาการเรียกว่า "ระบบกรีด"    
นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากกรีดถี่เกินไปเช่น 3-4 วันเว้น 1 วัน และใช้รอยกรีดยาวครึ่งต้นก็อาจทำให้ต้นยางในสวนมีอาการของ
โรคเปลือกแห้งมากขึ้นและทำให้การสิ้นเปลืองเปลือกเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเปลือกงอกใหม่ไม่หนาพอ เพราะมีระยะเวลาในการสร้างเปลือกน้อย       
ที่มา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 
 

 

 

 

 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว