www.Nattakae.webs.com |
วิเคราะห์พื้นที่ปลูกยางตามศักยภาพที่ดินภาคตะวันออก โดยอาศัยเทคนิคการสำรวจข้อมูลระยะไกล และจัดระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์
(Agro-ecological Zoning for Rubber (Hevea Brasiliensis) in Eastern Thailand By Using Remote Sensing Technique and GIS)
พงษ์เทพ ขจรไชยกูล สุทัศน์ ด่านสกุลผล สมยศ สินธุระหัส
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง
บทคัดย่อวิกฤตราคายางตกต่ำ นำไปสู่การประท้วงเรื่องราคายางอยู่เสมอๆ ในขณะนี้นั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคายางดี เกษตรกรหันมาปลูกยางพารากันเพิ่มมากขึ้น ทำให้เนื้อที่ปลูกยางโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น จนไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดของโลก พื้นที่ปลูกยางที่เพิ่มขึ้นนี้มีส่วนทำให้ผลผลิตยางที่เพิ่มขึ้นโดยรวมเกินความต้องการของตลาดโลก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยยางจึงมีนโยบายให้ลดพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC : The Association Natrual Rubber Producing Countries) ที่เสนอให้กลุ่มประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางธรรมชาติลดพื้นที่ปลูกยางลง พื้นที่ที่สมควรลดอยู่ตรงไหนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการสำรวจวเคระห์ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ปลูกยางจำนวนไม่น้อยปลูกในที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผลผลิตยางเฉลี่ยโดยรวมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ เพียง 218 กก./ไร่/ปี เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (หรือมีผลผลิตเพียง 68% ของผลที่ได้จากงานทดลองของสถาบันวิจัยยาง) พื้นที่ที่สมควรลดจึงพิจารณาเลือกพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตยางก่อนเป็นลำดับแรก
การสำรวจวิเคราะห์พื้นที่ของภาคตะวันออกเพื่อการกำหนดเขตนี้ได้อ้างอิงและใช้วิธีการเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในภาคใต้ โดยอาศัยวิธีการประเมินศักยภาพที่ดิน (Land Evaluation) ซึ่งประยุกต์จากรูปแบบ FAO Framework การศึกษาต้องคำนึงถึงปัจจัยร่วม (combination Effect) ที่จะมีผลต่อการให้ผลผลิตยาง ควบคู่กับการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) โดยอาศัยข้อมูลดาวเทียม Landsat 5 TM Band 4 , 5 และ 2 นำไปจัดระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS : Geographic Informaion Syatem) ผลการดำเนินงานในครั้งนั้นพบว่า รูปแบบจำลองของการพยากรณ์ผลผลิตน้ำยาง สามารถกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยางในภาคตะวันออกได้ด้วย และผลจากการศึกษาดังกล่าวได้จัดทำแผนที่ มาตราส่วน 1:100,000 พบว่า ภาคตะวันออก ยางที่ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม (A1) มีประมาณ 7 แสน 7 หมื่นไร่ ที่ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมปานกลาง (A2) มีประมาณ 3 แสน 5 หมื่นไร่เศษ และปลูกในพื้นที่ที่ไม่แนะนำให้ปลูก (A3) มีประมาณ 3 แสน 8 หมื่นไร่เศษ ในขณะที่พบว่าพื้นที่เหมาะสม (L1) และพื้นที่เหมาะสมปานกลาง (L2) ที่มีศักยภาพต่อการปลูกยาง ที่ยังไม่มีการปลูกยาง สามารถปลูกเพิ่มได้อีก 4 ล้าน 7 แสนไร่เศษ
รหัสทะเบียนวิจัย 43 17 001 003
ที่มา www.rubberthai.com