www.Nattakae.webs.com |
การศึกษาคุณภาพน้ำยางข้นจากโรงงานในประเทศไทย
(Quality of Thai Latex Concentrate)
พรรษา อดุลยธรรม กฤษณา คงศิลป์ สุมนา แจ่มเหมือน พรทิพย์ ประกายมณีวงศ์
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
บทคัดย่อการศึกษาคุณภาพน้ำยางข้นของไทย ประกอบด้วย สมบัติน้ำยางข้น สมบัติความสามารถในการแปรรูป และสมบัติยางคงรูปที่ได้ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำยางข้นที่ผลิตใหม่จากโรงงานน้ำยางข้นในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้รวม 9 ราย โดยเก็บตัวอย่างทุกเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน และศึกษาการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุการเก็บน้ำยางข้น 0,1,2,4, 5 และ 6 เดือน พบว่าน้ำยางข้นมีสมบัติน้ำยางข้นเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 2004 ประกอบด้วยปริมาณความเป็นด่าง ปริมาณกรดไขมันระเหยได้ ปริมาณกรดทั้งหมด และความคงตัวทางกล ส่วนค่าปริมาณเนื้อยางแห้งมีโรงงาน 3 ราย ที่มีค่านี้ต่ำกว่า 60 เล็กน้อย ค่าเฉลี่ยของผลต่างระหว่างค่าปริมาณของแข็งทั้งหมด และค่าปริมาณเนื้อยางแห้งเป็น 1.6 สูงกว่าเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้ไม่เกิน 1.5 โรงงานน้ำยางข้น 8 ราย สามารถผลิตน้ำยางข้นที่สามารถแปรรูปได้ด้วยการจุ่ม และการหล่อได้ตลอดช่วง 0-6 เดือน ของเวลาที่ศึกษา และมี 1 รายที่ผลิตน้ำยางข้น ซึ่งสามารถแปรรูปได้ในช่วง 0-3 เดือน เท่านั้น สมบัติเทนไซล์สเตร้งของยางคงรูปจากวิธีจุ่มและหาวิธีหล่อมีค่า 22.94 และ 21.07 MPa เมื่อใช้น้ำยางข้นอายุ 1 เดือน และค่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลา 0-6 เดือน ที่ศึกษาจะเห็นได้ว่าน้ำยางข้นที่มีสมบัติน้ำยางข้นที่แตกต่างกัน สามารถผลิตเป็นยางคงรูปที่มีสมบัติใกล้เคียงกันได้ น้ำยางข้นส่วนใหญ่มีสมบัติความสามารถในการแปรรูปแปรปรวนค่อนข้างสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อปัญหาในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางได้
รหัสทะเบียนวิจัย 42 17 300 003
ที่มา www.rubberthai.com