www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ประวัติเมืองตรังสมัยการปกครองหัวเมืองฝั่งตะวันตกและมณฑลภูเก็ต

	" เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา 
	เด่นสง่าดอกศรีตรัง ประการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา " 
สถานที่ท่องเที่ยวที่แห่งหนึ่งของจังหวัดตรังอยู่ที่อนุสาวรีย์พระรัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตรัง ทางไปจังหวัดพัทลุง ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้ที่เดินทางไปถึงจังหวัดตรังทุกคนมักแวะไปทำความเคารพอนุสาวรีย์ของท่าน บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นที่ตั้งพระตำหนักผ่อนกาย ซึ่งจัดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันได้ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะอันร่มรื่น เวลาเย็นๆ มีประชาชนไปพักผ่อนเป็นจำนวนมาก พระยารัษฎาฯ ได้สร้างและทำนุบำรุงความเจริญแก่จังหวัดตรังไว้มาก เช่น ด้านคมนาคมในจังหวัดตรัง ด้านเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ด้านการศึกษา การปกครอง นโยบายรักษาความสงบและการสาธารณสุข ฯลฯ และเป็นผู้นำต้นยางต้นแรกที่ปลูกในจังหวัดตรัง จนแพร่หลายไปทั่วภาคใต้
ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง ยางต้นนี้คือตัวแทนของกลุ่มยางรุ่นแรก ที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เจ้าเมืองตรังได้นำมาปลูกไว้เพื่อบุกเบิกอาชีพสวนยางพาราของชาวตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 ซึ่งต้นยางนี้มีประวัติร่วมกับสมัยสร้างเมืองตรังดังนี้

เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่กันตัง
เมื่อพระยารัษฎาฯ มารับตำแหน่ง พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองตรังทุกด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เป็นเมืองค้าขาย เริ่มจากการย้ายเมืองจากตำบลควนธานีไปตั้งที่ตำบลกันตัง และสร้างความเจริญแก่เมืองตรังอย่างมาก
การพัฒนาในสมัยพระยารัษฎาฯ ที่จะนำไปสู่ความเป็นเมืองท่าค้าขายมีอยู่หลายด้าน เริ่มจากการแก้ปัญหาความไม่สงบเรื่องโจรผู้ร้าย และส่งเสริมอาชีพพื้นฐานคือการเกษตร เริ่มต้นจากเกษตรยังชีพในครัวเรือน และขยายเป็นเกษตรเพื่อการค้า โดยใช้กุศโลบายต่าง ๆ และระบบกลไกของรัฐ เช่น การยกเว้นเก็บภาษีอากรและเกณฑ์แรงงานแก่ผู้บุกเบิกทำนา จนสามารถส่งข้าวขายปีนังได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ชาวเมืองตรังอดข้าว ต้องซื้อจากปีนังอยู่เสมอ การสร้างถนนและสะพานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องถิ่น และส่งขายต่างประเทศทางท่าเรือกันตัง พระยารัษฎาฯ ส่งเสริมบริษัทตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ท่าเรือกันตัง สินค้าสำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ เป็ด ไก่ สุกร โค กระบือ พริกไทย ข้าว ตับจาก ไม้เคี่ยม ไม้โปรง เป็นต้น

การพัฒนาของพระยารัษฎาฯ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในส่วนกลาง ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูประบบราชการ และนำพาชาติเข้าสู่การพัฒนาให้เทียบทันอารยประเทศ การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ที่กำหนดให้มีทางแยกจากทุ่งสงมุ่งสู่ท่าเรือกันตัง เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ ส่วนในสายแยกตั้งแต่ทุ่งสงถึงกันตัง เปิดการโดยสารระหว่างกันตัง - ห้วยยอด วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖ และต่อมา เปิดการโดยสารระหว่างห้วยยอดกับทุ่งสง ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๖ (นับปีแบบเก่า ขึ้นศักราชใหม่เดือนเมษายน เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ ๑๐ ของปี) เส้นทางรถไฟนี้ส่งเสริมนโยบายเมืองท่าค้าขายของพระยารัษฎาฯ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ พระยารัษฎาฯ ยังได้มองการณ์ไกล ที่จะทำให้กันตังเป็นท่าเรือค้ากับต่างประเทศได้เต็มศักยภาพ โดยเสนอทางรัฐบาลจัดสร้างท่าเรือน้ำลึก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน

ใน พ.ศ.๒๔๓๕ ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากระทรวงมหาดไทย และเริ่มการปกครองระบบมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรก หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกเดิมเปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ต เมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๓๔ ทางการได้ยุบเมืองปะเหลียนรวมกับเมืองตรัง ต่อมามีประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) แบ่งท้องที่การปกครองเป็นอำเภอ จังหวัดตรังมี ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว(ห้วยยอด) อำเภอสิเกา และอำเภอปะเหลียน มีตำบลรวม ๑๐๙ ตำบล

พ.ศ.๒๔๔๔ พระยารัษฎาฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต มีผู้ว่าราชการเมืองตรังต่อจากพระยารัษฎาฯ ๕ คน พอถึง พ.ศ.๒๔๕๘ สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง มหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทรราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ฯ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เห็นว่าเมืองที่กันตังอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม เนื่องจากตอนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เรือดำน้ำของเยอรมันชื่อเอ็มเด็น ได้ลอยลำยิงถล่มปีนัง หากมีสงครามเกิดขึ้นอีก เมืองตรังอาจจะถูกยิงเช่นปีนัง รวมทั้งพื้นที่ลุ่ม และมีโรคระบาด หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ.๒๔๕๘ แล้ว จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองไปตั้งที่อำเภอบางรัก และได้ย้ายไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๘

เมืองตรังสมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง - ปัจจุบัน

เมื่อย้ายเมืองมาที่อำเภอบางรักแล้ว ในตอนแรกใช้ตำหนักผ่อนกายเป็นศาลากลางชั่วคราว ชื่ออำเภอบางรักเปลี่ยนเป็นอำเภอทับเที่ยง ใน พ.ศ.๒๔๕๙ และเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองตรัง พ.ศ.๒๔๘๑

พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดตรังอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนวิเชียรมาตุ ในวันที่ ๓ พฤษภาคม

พระยารัษฎาฯ (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไปจนถึง พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อจากนั้นพระยาตรังคภูมาภิบาล (เจิม ปันยารชุน) มารับตำแหน่ง และดำเนินการก่อสร้างศาลากลางจังหวัด จนเปิดทำการได้ใน พ.ศ. ๒๔๖๓

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ พระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล) ดำรงตำแหน่งสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เอาใจใส่พัฒนาเมืองตรังหลายด้าน จึงปรากฏชื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ที่เมืองตรัง เช่น กะพังสุรินทร์ ถนนวิเศษกุล วัดควนวิเศษ ที่ตำบลทับเที่ยง ถ้ำสุรินทร์ ที่อำเภอปะเหลียน

พ.ศ.๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จฯ เมืองตรัง ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยไว้ที่น้ำตกช่องและถ้ำเขาปินะ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จังหวัดตรังนับเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งในเป้าหมายการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีร่องรอยการตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นหลายแห่ง แต่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น

พ.ศ.๒๔๘๓ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตรวจราชการเมืองตรัง ดำริว่า ควรสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎาฯ จังหวัดตรังจึงดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อย ทำพิธีประดิษฐานในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๙๓ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับเฉลิมฉลองในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๔

พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคใต้ เสด็จฯ จังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒ เมื่อเสด็จฯ น้ำตกช่อง ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยและพระนามาภิไธยย่อไว้ที่ก้อนหินใหญ่บริเวณโตนน้ำปลิว คืนวันที่ ๑๖ ประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด
จังหวัดตรังเริ่มการปกครองสุขาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ที่อำเภอทับเที่ยง ต่อมาหลังจากที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ สุขาภิบาลเมืองตรัง ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองตรัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ และเป็นเทศบาลนครตรัง พ.ศ.๒๕๔๒ ส่วนเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลอื่น ๆ เกิดขึ้นมาตามความพร้อมของท้องถิ่น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ และยุบเลิกการปกครองในระบอบมณฑล ใน พ.ศ.๒๔๗๖ แล้ว ตรังมีฐานะเป็น ๑ ใน ๗๐ จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ การเลือกตั้งคราวนั้น ได้ นายจัง จริงจิตร เป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตรัง
รูปแบบการปกครองท้องถิ่นอีกลักษณะหนึ่ง คือ สภาจังหวัด ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.๒๔๗๖ สภาจังหวัดมีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือแนะนำกรมการจังหวัด คณะกรรมการสภาจังหวัดตรังชุดแรกเปิดประชุมครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๘ ที่ศาลาเทศบาลเมืองตรัง

องค์การบริหารส่วนจังหวัด เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๔๙๘ และเปลี่ยนแปลงตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ ที่โอนอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นอำนาจของท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนตำบลชุดแรกของจังหวัดตรัง เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ จำนวน ๑๒ ตำบล เพิ่มเป็น ๘๑ ตำบลใน พ.ศ.๒๕๔๐ และ ๘๕ ตำบล ใน พ.ศ.๒๕๔๔

ที่มา www.tourthai.com

 
 

 

 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว