www.Nattakae.webs.com |
บิดายางพาราไทยกับกำเนิดสวนยาง
"ความร่ำรวยในอาชีพด้านการเกษตรนั้น คือ ความร่ำรวยของประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป และนั่นก็คือความมั่นคงของชาติอันเป็นส่วนรวม"
ข้อความข้างต้นนี้ เป็นคำกล่าวของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต นักปกครองผู้มองการณ์ไกล ที่มีความคิดริเริ่มในทางทำนุบำรุงบ้านเมืองความเป็นอยู่ของราษฎรตลอดจน เพียรพยายาม ที่จะสร้างงานด้านการเกษตรให้กับประชาชนทุกเวลา ท่านจะต้องนำเอาวิธีการใหม่ที่ได้พบเห็นมาแนะนำและส่งเสริม ให้ราษฎรยึดถือไปปฏิบัติ ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปดูงานในต่างประเทศเช่น เมื่อไปดูงานประเทศชวากลับมา ก็ได้แนวความคิด ที่จะใช้ประสานประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยตรงทั้งในด้าน การเกษตรกรผู้ผลิต และด้านความสะดวก ในการซื้อหาของผู้บริโภค สิ่งนั้นคือ "ตลาดนัด" โดยประกาศให้ราษฎรพ่อค้าแม่ค้าต่างตำบล
นำสินค้าในท้องถิ่นมาจำหน่าย และแลกเปลี่ยนกัน ที่ตลาดนัดซึ่งได้หมุนเวียนสับเปลี่ยนทั่วทุกตำบลเป็นผลให้ผู้คนต่างท้องถิ่น ได้ไปมาหาสู่ต่อกันมากขึ้น พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ประเทศไทยผลิตส่งออกตลาดโลกเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย นั้นก็เป็นผลงานชิ้นหนึ่งจากความริเริ่มความพยายาม และความตั้งใจจริงของพระยารัษฎา ฯ เมื่อ 80 ปี ที่แล้วมา อีกเช่นกัน
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎาประดิษฐ์ มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต มีชื่อเดิมว่า คอซิมบี้ ณ ระนอง เป็นบุตรคนที่ 4 ของ พระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นสกุล ณระนอง ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองระนอง คนแรกมารดาชื่อ กิ้ม เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อ พ.ศ. 2400 เมื่ออายุได้ 12 ขวบ คือ พ.ศ. 2412 ได้ติดตาม บิดาไปประเทศจีน ในโอกาสที่บิดาไปพักผ่อนและทำบุญให้กับบรรพบุรุษ ณ มาตุภูมิ จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ณ จังหวัดเจียงจิวบ้าง แล้วกลับมาอยู่ จังหวัดระนองช่วยบิดาทำงานตามเดิม พ.ศ.2425 หลังจากบิดาถึงอนิจกรรม พระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ผู้เป็นพี่ชาย ได้นำถวายตัวเป็น มหาดเล็กใน รัชกาลที่ 5 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร เป็นที่พระอัสดงคตทิศรักษา ตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ หัวเมืองปักษ์ใต้ ถึงเมืองระนอง กระบุรี ทรงเห็นว่าพระอัสดงคตทิศรักษา (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มีความสามารถจัดการปกครอง เป็นที่พอพระหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไป ดำรงตำแห่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ควนธานีแทนพระยาตรังภูมิภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯไปเป็น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมกับเลื่อนยศจากพระอัสดงคตทิศรักษา เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ในเวลาต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต มีขอบข่ายการปกครอง 7 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล ส่วนผู้ที่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แทน คือ พระสถล สถานพิทักษ์ (ยู่เกี๊ยด ณ ระนอง) บุตรบุญธรรมของพระยาดำรงสุจริต มหิศรภักดี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำยางเข้ามาปลูกในประเทศไทยนั่นเอง
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ถึงแก่อนิจกรรม ที่บ้านจักรพงษ์ ปีนัง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2456 มีอายุได้ 56 ปี หลังจากถูกหมอจันทร์ บริบาล แพทย์ประจำจังหวัดลอบยิงด้วยปืนพก (เบรานิง) ที่สะพานเจ้าฟ้า ท่าเรือกันตัง ได้ 45 วัน
ที่มา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง