www.Nattakae.webs.com |
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางง่าย ๆ คือ ทรงเริ่มจากสิ่งเล็กไปสู่สิ่งใหญ่ทรงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจจากเบื้องต้นก่อน ทรงรับสั่งว่าการพัฒนาชนบทนั้นมีความสำคัญที่สุดถ้าชนบทอยู่ได้ประเทศก็อยู่ได้ เพราะจุดเริ่มต้นของสังคมนั้นอยู่ที่ชนบท หมายถึง การทำให้ชาวชนบทหรือชุมชนมีความเข้มแข็ง แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จะนำมากล่าวในบทนี้ได้แก่ ทฤษฎีใหม่ และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
1 ทฤษฎีใหม่
หลักการและแนวคิดทั่วไป
การเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นที่การพอมีพอกินโดยเลี้ยงตัวเองได้พร้อมกับยึดหลักความสามัคคี การพอมีพอกิน หมายถึงการพึ่งตนเองใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านจิตใจ ต้องมีจิตสำนึกที่ดี และสร้างสรรให้ตนเองและส่วนรวม ด้านสังคม ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาด ประหยัด และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการหาทางเพิ่มมูลค่า ด้านเทคโนโลยี ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีโดยใช้ประกอบกับภูมิปัญญาชาวบ้าน การเกษตรทฤษฎีใหม่ มีหลักสำคัญคือให้เกษตรกรมีความพอเพียง พอเลี้ยงตัวเองได้ในระดับชีวิตที่ประหยัด โดยต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น เกษตรกรต้องผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปี ใครชอบบริโภคข้าวใดก็ปลูกข้าวอย่างนั้น หากมีพอก็ขาย เน้นให้เกษตรกรมีสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพอนามัยดี มีรายได้พอซื้อเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเพียงพอ เกษตรการส่วนใหญ่ในพื้นที่ควรมีความพึงพอใจ และความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน เกิดความสามัคคีในชุมชน
ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
หลักการและแนวทางสำคัญ
1. เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกับการ "ลงแขก" แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่าย
2. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาประมาณ 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพงเพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างอิสรภาพ
3. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอ-เพียง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ (รวมเป็น 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
4. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณ และคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดิน ถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่า หรือมากกว่านี้ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 ไปเป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ - 30 % ส่วนแรก ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ ได้ด้วย) และบนสระอาจจะสร้างเล้าไก่ได้ด้วย - 30 % ส่วนที่สอง ทำนา - 30 % ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้เพื่อเป็นเชื้อฟืน ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น) - 10 % สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
(1) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ) - เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(2) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต) - เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(3) การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) - ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(4) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้) - แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
(5) การศึกษา - ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่ชุมชนเอง
(6) สังคมและศาสนา - ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว - กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคารหรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารหรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
- เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
- ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
- เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
- ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
2 เศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
" .การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคง พร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขึ้นสูงโดยลำดับต่อไป "
พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517
"คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกินไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้.."
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2517
ความสำคัญของพระบรมราโชวาทนี้ อยู่ที่พระองค์ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ถ้าจะใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์อธิบายตามความหมายนี้ก็คือ แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานก่อน นั่นคือทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป
ในส่วนที่เน้นนั้นคือทรงเป็นกังวลในเรื่อง ความโลภของคนอันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าการเน้น "ความพอเพียง" "พอสมควร" "ตามอัตตภาพ" นั้น เป็นจุดเน้นของพระองค์มาโดยตลอด จุดเน้นดังกล่าวนั้นแท้ที่จริงมิได้เป็นประเด็นทางศีลธรรม แต่เป็นประเด็นของการลดความเสี่ยงอันเกิดจากสภาพความไม่แน่นอนในทุกด้าน โดยมีสภาพดินฟ้าอากาศเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนสำหรับอาชีพทางการเกษตร ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจแล้วในปี 2540 พระองค์ท่านได้ทรงขยายความ ให้เห็นถึงรูปธรรมของการไม่ประมาณตนของความโลภ เห็นแก่ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลได้เสียแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นอย่างละเอียด ซึ่งพระองค์ท่านทรงเน้นว่าการจะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วย "ความรอบคอบ" และ "อย่าตาโต" เกินไป ประเด็นนี้คือประเด็นที่ทรงแสดงความกังวลเอาไว้แล้วครั้งหนึ่งในปี 2539 และเมื่อมีปัญหาวิกฤติที่รุนแรงที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา จึงมีพระราชดำรัสที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่เสมอว่า
"การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง .ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก"
" ..ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด แม้แต่ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะสามารถอยู่ได้"
ตามพระราชดำรัสดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พระองค์เข้าพระทัยว่าสาเหตุของวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยประสบอยู่นั้น เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินเศรษฐกิจเป็นแบบที่พระองค์ทรงเรียกว่า "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" พร้อมทั้งให้คำนิยามเป็นภาษาอังกฤษว่า "TRADE ECONOMY" พระองค์ท่านจึงทรงเน้นว่าจะต้อง ถ้าสามารถจะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็น เศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งพระองค์ใช้คำภาษาอังกฤษว่า "SELF SUFFICIENT ECONOMY" ซึ่งได้เน้นว่าอาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด
ที่มา http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/economic/eco52/index.html