www.Nattakae.webs.com |
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์สู่สังคม
กิจกรรมเสริมสร้างการแข่งขันทางการค้า(Competition Advocacy)
การสัมมนา เรื่อง "กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์สู่สังคม"
กรมการค้าภายใน และ JICA ได้ร่วมกันจัดทำสัมมนาผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการแข่งขันทางการค้า(Advocacy Activities) เรื่อง "กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์สู่สังคม" เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ณ โรงแรม Westin Grade สุขุมวิท กรุงเทพฯ
สาระสำคัญการบรรยายพิเศษและการอภิปรายของวิทยากรจำนวน 5 ท่าน โดยแต่ละท่านมีหัวข้อการบรรยายดังต่อไปนี้
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า
บรรยายโดย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน 27 พฤษภาคม 2548
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย เกิดจากปัญหาภายในประเทศ ไม่ได้เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์มาดำเนินการผลักดันให้เรามีกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กรมฯ ดูแลสินค้ามาโดยตลอดในอดีต ซึ่งจะดูเฉพาะราคาระหว่างผู้บริโภคกับผู้จำหน่ายปลีก และผู้บริโภคกับผู้จำหน่ายส่ง แต่ถ้าเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่ผ่านมา การแข่งขันยังไม่รุนแรงเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นปัญหาของกลไกราคาขายปลีก ไม่ใช่ปัญหาระหว่างผู้บริโภคกับร้านค้าปลีก ไม่ใช่ผู้บริโภคกับ Modern trade แต่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ระหว่างผู้ผลิต กับผู้จำหน่ายกับ Supplier กับ Distributor ขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในตลาดสินค้าที่มีการแข่งขันน้อย ผู้นำตลาดตั้งราคาสินค้าสูง ทำให้ผู้ที่อยู่ในตลาดอื่นๆ ตั้งราคาตาม มิได้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่เกิดจากตลาดต้นทาง เหตุนี้ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงปัญหา การดูแลผู้บริโภคเราดูแลถูกจุดหรือไม่ ควรจะดูจุดต้นทางที่เป็น Manufacture Distributor กับ Supplier ว่าแข่งขันกันเป็นธรรมหรือไม่ แข่งขันกันเต็มที่หรือเปล่า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาที่ปลายทาง ด้วยเหตุนี้กรมฯจึงยกร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าขึ้นมา เพื่อให้เกิดผลสะท้อนในสภาพของการแข่งขันที่เป็นจริงขึ้น
เนื่องจากบทกฎหมายอื่นๆ ไม่มีบทข้อห้ามเกี่ยวกับ การตั้งราคาเป็นอย่างไร การผูกขาดตัดตอนเป็นอย่างไร การฮั้วราคาเป็นอย่างไร กรมฯ จึงได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา การตรากฎหมายฉบับนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูกระแสของโลกด้วยว่า ลักษณะของกฎหมายนั้นมีหลักการอย่างไร หลักการใดเหมาะที่จะใช้กับประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ มีกฎหมาย Sherman Act และต่อมามี Clayton Act เนื่องจากที่มาของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของสหรัฐฯ เริ่มมาจากปัญหาโครงสร้างของธุรกิจ มีลักษณะผูกขาด ดังนั้นการตรากฎหมายป้องกันการผูกขาดขึ้นมา เพื่อห้ามการผูกขาดทางธุรกิจ ห้ามมีโครงสร้างธุรกิจที่ผูกขาด และใช้หลักการควบคุมโครงสร้าง เนื่องจากเหมาะกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาคือ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าตลาดขนาดเล็ก แล้วเข้าไปควบคุมโครงสร้างมาก จะไม่ทำให้เกิด Economy of Scale ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอันหนึ่ง
ดังนั้นลักษณะกฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมาย Antitrust หรือ Anti Monopoly Act ในโลกนี้ มีหลักการควบคุมโครงสร้าง และควบคุมพฤติกรรม หลักควบคุมพฤติกรรม ยอมรับว่าต้องมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั้น ไม่ใช้อำนาจที่บิดเบือน ด้วยเหตุนี้ ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ Design กฎหมายให้เหมาะสมกับประเทศไทย คือ Design กฎหมายในลักษณะเป็นการควบคุมพฤติกรรม ยอมรับว่าธุรกิจมีขนาดใหญ่ได้ ธุรกิจมีการพัฒนาไปสู่ประสิทธิภาพในการผลิต การจำหน่าย ถ้าเกิด Economy of Seale แล้ว จะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศ และสามารถจะแข่งขันในการส่งออกได้ด้วย ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนมากออกมาโต้แย้ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อธิบายยาก ยิ่งเมื่อ 10 ปีก่อนนี้ ความเข้าใจในเรื่องนี้มีไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กฎหมายจะออกมาช้า แต่ก็ทันเหตุการณ์
เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการฮั้วกันเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ถึงแม้มีจำนวนไม่มากเหมือนกับทางไต้หวัน เกาหลีก็ตาม แต่เมื่อมีการเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้อง ผู้ประกอบการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของไทยก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าองค์รวมของระบบการแข่งขันของไทย ยังไม่สมบูรณ์เหมือนหลายๆประเทศ แต่พฤติกรรมที่จำกัดการแข่งขัน หรือลักษณะการกระทำที่ผูกขาดอย่างเช่นเมื่อหลายปีก่อนลดน้อยลง แต่มีการกระทำในลักษณะเป็นที่ลับมากขึ้น อย่างไรก็ตามในการพัฒนากฎหมายของเรา จะต้องมีการพัฒนากฎหมายที่ทำให้การแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในลักษณะเป็นที่ลับถูกเปิดเผย และถูกขจัดไป
ความร่วมมือเชิงวิชาการระหว่างกรมการค้าภายใน กับ JFTC และ JICA เป็นไปได้ด้วยดี และขอยืนยันว่าความร่วมมือกันในเชิงวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้า ไปในทางที่ให้เกิดความเข้าใจและเป็นสากล ต้องการทำให้ระบบการแข่งขันในประเทศเกิดผลประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค ต้องการให้ระบบการแข่งขันในประเทศเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดมีประสิทธิภาพ และพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมถูกขจัดไป สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น
ประสบการณ์ด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าของประเทศญี่ปุ่น
บรรยายโดย Mr. Isao Kasabuchi ตำแหน่ง Inter-Enterprise Trade Division, JFTC 27 พฤษภาคม 2548
1. ความเป็นมาของกฎหมายป้องกันการผูกขาดของญี่ปุ่น (AMA) ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกผูกขาดโดยธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Zaibuzu กลุ่มนายทุน ซึ่งมี 4 กลุ่มใหญ่ รวมทุนประมาณ 25% ของทุนที่มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1945) ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้ปกครองของสหรัฐฯ และพันธมิตร ซึ่งแนวคิดของสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตร คือต้องการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ สลายกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 ปีต่อมาจึงได้ประกาศบังคับใช้กฎหมาย AMA ในปี 1947 เพื่อกระจายฐานเศรษฐกิจ ซึ่งได้ต้นแบบกฎหมายมาจากกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ
หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย AMA ไม่นาน ก็เกิดกระแสความไม่พอใจจากภาคธุรกิจ ว่ามีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากเกินไป จึงได้มีการออกมาตรการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในกฎหมาย เช่น ยอมให้มีการฮั้วกันได้ในบางธุรกิจ ซึ่งถือว่ายุคนี้ ปี 1950 เป็นยุคถดถอยของ AMA ไม่มีคนยอมรับ
ในยุค 1960 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทุกคนสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจของตนเอง ไม่มีใครสนใจกฎหมาย AMA
ในยุค 1970 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอย เกิดวิกฤตน้ำมัน (Oil Crisis) ก่อให้เกิดการฮั้วราคาขึ้น ในปี 1977 ได้นำระบบเปรียบเทียบปรับจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการฮั้ว คิดว่าจะได้ผลดี กลับเกิดปัญหา คือ ทำให้ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม เพราะหลังจากเกิดวิกฤติน้ำมัน มีธุรกิจบางกลุ่มขายไม่ได้ ไม่มีการพัฒนาขึ้น เป็นผลให้ต้องปรับแก้ให้ฮั้วได้ ในสินค้าพื้นฐาน
ในยุค 1980 ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มาก ทำให้เกิดการขัดแย้งทางการค้า จึงมีการเจรจาทางการค้าเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ สหรัฐฯ ต้องการเข้าตลาดญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถเข้าได้ เพราะวิธีทางการค้าไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ สหรัฐฯ ต้องการให้ญี่ปุ่นบังคับใช้กฎหมาย AMA ให้เข้มแข็งขึ้น ญี่ปุ่นจึงแก้ไขกฎหมาย AMA โดยการเพิ่มค่าปรับขึ้น 4 เท่าตัว
ในยุค 1990-2000 เป็นยุคทองของกฎหมาย AMA มีการบังคับใช้ AMA ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกเลิกประกาศ กฎกระทรวง ที่ให้การผ่อนปรน ในยุคนี้ สังคม ธุรกิจ ให้การยอมรับ AMA
2. กฎหมายแข่งขันในประเทศอื่นๆ มีรูปแบบอย่างไรบ้าง
การแข่งขันมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศ แต่เป็นระดับโลก ถ้ามีกฎหมายแข่งขันก็จะสร้างศักยภาพของประเทศตนเองมากขึ้น แต่ต้องคำนึงว่าแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะ ขนาดเศรษฐกิจต่างกัน กฎหมายก็จะไม่เหมือนกัน ประเทศใดประเทศหนึ่งทำอาจไม่สำเร็จ ต้องร่วมมือกันทำให้พฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าหมดไป การที่มีกฎหมายนี้เป็นการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติเติบโตมากขึ้น ในปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายระดับ เช่น OECD, ICN, East Asia เป็นต้น
3. การรับรู้ของประชาชนในเรื่องนโยบายการแข่งขันทางการค้า
ในยุค 1990 ซึ่งเป็นยุคทองของ AMA ประชาชนมีความเข้าใจในกลไกการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น มีการสำรวจของสำนักนายก ในปี 2001 ถามว่าการส่งเสริมให้ธุรกิจมีการแข่งขันเป็นการสร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ 75% ดี 15% ไม่ดี ธุรกิจเห็นว่าการแข่งขันดีเพราะอะไร ราคาสินค้าถูก คุณภาพ สินค้าดีขึ้น นอกจากความสนใจของคนทั่วไป สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ ก็ให้ความสนใจ โดยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของ JFTC
ให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องกรณีการฮั้วราคา โดยเฉพาะของบริษัทก่อสร้าง จากการสำรวจ เมื่อมีการฮั้วกัน ราคาจะสูงขึ้นประมาณ 19% หรือจะสูงกว่าราคากลางหรือราคาที่ควรจะเป็นประมาณ 20% เมื่อประชาชนรู้ว่ามีการฮั้ว จะแจ้งองค์กรส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่น เหมือน อบต. ของไทย ว่าให้คืนเงินส่วนที่เกินกว่าราคากลาง ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการเสียภาษีอากรในส่วนนี้ จึงมีการจับตาดูว่ามีการฮั้วหรือไม่ นอกจากจะฮั้วในระดับท้องถิ่นแล้ว ก็มีการฮั้วระดับประเทศด้วย เป็นกรณีของบริษัทเหล็กฮั้วสร้างสะพานเหล็กในญี่ปุ่น มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการโดนจับไปแล้วหลาย 10 คน
4. ทำไมต้องมีการแข่งขัน และคนทั่วไปได้ประโยชน์อะไร
ถ้ามีการแข่งขันในธุรกิจ ก็จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีการแข่งขันในเรื่องคุณภาพมากขึ้น สิ่งที่เกิดจากการแข่งขันต้องใช้ความพยายาม มิได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าบริษัทไม่สู้ หรือตกลง ร่วมกันก็จะไม่เกิดการพัฒนาขึ้น ท้ายที่สุดศักยภาพในการแข่งขันของตนเองจะน้อยลง
ถ้ามีการแข่งขันในธุรกิจ ผลประโยชน์โดยรวมจะตกแก่ผู้บริโภค แต่ถ้าไม่มีการแข่งขัน ผู้บริโภคก็ถูกจำกัดสิทธิแทนที่จะเลือกสินค้าได้หลากหลาย และคุณภาพสินค้าดีขึ้น
5. สาระสำคัญของกฎหมาย AMA
ข้อกำหนดในกฎหมาย ได้แก่
1. ป้องกันการตกลงร่วมกัน
2. ป้องกันบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดใช้อำนาจโดยมิชอบ
3. ห้ามการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
4. ห้ามการควบรวมธุรกิจ
องค์กรบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด คือ คณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (JFTC) เป็นองค์กรอิสระ สำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว มีสำนักงานในท้องถิ่น 8 แห่ง มีจำนวน เจ้าหน้าที่รวม 706 คน ในปี 2005 ภารกิจหลัก ออกคำสั่งระงับ หรือแก้ไขการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และออกคำสั่งให้ชำระค่าปรับ
6. การดำเนินงานของ JFTC ในปัจจุบัน
มีการสร้างกฎกติกาใหม่สำหรับธุรกิจ Distribution เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ คือ ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ ใช้อำนาจซื้อที่เหนือกว่าบังคับ Suppliers ให้ทำตามความต้องการของตน เช่น กรณีเปิดห้างใหม่ต้องใช้คนงานจำนวนมาก ก็จะบังคับให้ Suppliers ส่งพนักงานมาช่วย แทนที่จะมาทำงานส่งเสริมการขายแต่ไปทำงานอย่างอื่น หรือ ห้างเก็บเงินลงขันจาก Suppliers หรือ ซื้อสินค้าขาดไปแล้ว แต่ขายไม่ได้ก็คืนโดยไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญา หรือ ทำสัญญาตกลงราคากันแล้ว แต่กดราคาให้ถูกลงอีก เป็นต้น
กฎระเบียบเดิมที่ใช้ คือ Notification for Specific Unfair Trade Practices in the Department Store Business ปี 1954 แต่เนื่องจากลักษณะค้าปลีกเดิมมี ห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ในปัจจุบันมี ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านขายยา Discount Store หลากหลายขึ้น จึงต้องมีการปรับให้เหมาะสมมากขึ้น และปัญหาที่เกิดขึ้นกฎเกณฑ์เดิมไม่ครอบคลุม เช่น การเรียกเก็บเงินลงขัน บังคับให้ Suppliers ซื้อทั้งๆ ที่เขาไม่ต้องการ เป็นต้น กฎระเบียบที่กำหนดขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Notification for Specific Unfair Trade Practices by Large-scale Retailers relating to the transaction with Suppliers มีการให้คำนิยามของผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ กว้างขึ้น โดยกำหนดจากยอดขาย (10 พันล้านเยนต่อปีขึ้นไป) หรือขนาดพื้นที่ของร้าน และกำหนดข้อห้ามเพิ่มเป็น 10 พฤติกรรม จากเดิมมี 7 พฤติกรรม ได้แก่
1. คืนสินค้าที่ขายไม่ได้อย่างไม่เป็นธรรม
2. บังคับให้ลดราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม
3. บังคับให้ทำการส่งมอบสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม
4. บังคับให้ขายสินค้าในราคาต่ำเกินควรเพื่อส่งเสริมการขาย
5. ปฏิเสธที่จะรับสินค้าที่สั่งพิเศษอย่างไม่เป็นธรรม
6. บังคับให้ซื้อสินค้า
7. การใช้พนักงานของ Suppliers อย่างไม่เป็นธรรม
8. การเอาประโยชน์จาก Suppliers อย่างไม่เป็นธรรม
9. การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเสียประโยชน์ กรณีที่ Suppliers ปฏิเสธไม่ทำตามความต้องการของผู้ค้าปลีก
10. การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเสียประโยชน์ในกรณีที่รายงานต่อ JFTC ซึ่งอยู่ในระหว่างการลงรายละเอียดในแต่ละพฤติกรรม
7. ความร่วมมือระหว่างประเทศ
มีองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า หลายองค์กร เช่น OECD ICN เป็นต้น นอกเหนือจากองค์กรดังกล่าวแล้ว East Asia ก็มีการรวมตัวกันขององค์กรบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า มีการประชุมหารือร่วมกัน ในปีนี้มีการประชุมเมื่อต้นเดือน พ.ค. 48 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในที่ประชุมมีองค์องค์กรบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านการแข่งขันของประเทศ East Asia ร่วมประชุม ถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อภิปรายโดย นายมนัส สร้อยพลอย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรการทางการค้า 27 พฤษภาคม 2548
มุมมองของกรมการค้าภายใน
ความเป็นมาของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เดิมมี พ.ร.บ. ป้องกันการผูกขาดและกำหนดราคาสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ การกำหนดราคาสินค้า และป้องกันการผูกขาด ต่อมาได้ยกเลิกและมีการพัฒนาแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
หลักของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 คือเข้าไปดูแลอย่างไรให้มีการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภคโดยทางอ้อม
การพัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย ต้องดูถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง และเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตจะเหลือเพียงตลาดเดียว (Single Market) ดังนั้นกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายเศรษฐกิจที่สำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องดูหลักเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ ต้องดูกฎหมายฉบับอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น กฎหมายของกระทรวงการคลัง กฎหมายของ BOI กฎหมายต่างด้าว กฎหมายการนำเข้าส่งออก กฎหมายการทุ่มตลาด เป็นต้น กฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนโครงสร้างกระบวนการฟ้องร้อง คือ เอกชนไม่สามารถฟ้องร้องเองได้ต้องผ่านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
การดำเนินการของกรมฯ
- ความคืบหน้าในการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด (มาตรา 25) มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 ได้มีการเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เสนอเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33.33 ยอดขาย 1,000 ล้านบาท ครม. ให้นำกลับมาทบทวนว่าจำเป็นอุปสรรคทางการค้าหรือไม่ ครั้งที่ 2 เสนอแยกเป็นรายธุรกิจ เริ่มจากอุตสาหกรรมที่มีการร้องเรียน คือธุรกิจค้าปลีก และรถจักรยานยนต์ ครม. ให้นำกลับมาทบทวนใหม่ เนื่องจากธุรกิจมีมากมาย การกำหนดเป็นรายธุรกิจนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ ขณะนี้ฝ่ายเลขานุการได้ศึกษาและเสนอให้ใช้เกณฑ์เดียวทุกธุรกิจ อยู่ในระหว่างรอเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
- ความคืบหน้าในการกำหนดเกณฑ์รวมธุรกิจ (มาตรา 26) อยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาและทบทวน
- ในส่วนของมาตรา 27-29 สามารถบังคับใช้ได้เลย
FTA /WTO จะบีบบังคับให้เราต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ไม่ดีก็ต้องแก้ไข
ให้ความเห็นเรื่อง Guidelines ว่า กฎหมายของญี่ปุ่นให้อำนาจ JFTC ออก Guidelines ได้ ในส่วนของประเทศไทยก็อยู่ในระหว่างการทำร่วมกับภาคเอกชน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ Guidelines เปรียบเสมือนดาบสองคม ผู้ประกอบการทำตาม Guidelines แต่ศาลอาจไม่ฟังก็ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำ ต่างจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ออกประกาศได้
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อภิปรายโดย คุณพรนภา ไทยเจริญ บจ. เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ 27 พฤษภาคม 2548
มุมมองนักกฎหมาย
สืบเนื่องมาจากการยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันการผูกขาดและกำหนดราคาสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาด และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินสมควร แต่เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมทางการค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆ มิใช่เพียงแต่ตั้งราคาสูงเกินสมควรเท่านั้น แต่อาจมีพฤติกรรมการตั้งราคาต่ำเกินสมควร หรือพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้นจึงมีการตราออกพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ขึ้น
วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542
- ป้องกันการผูกขาด/ ลดการแข่งขัน/จำกัดการแข่งขัน
- มุ่งส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
- ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ระบบการตลาดช้าลง
- มีการแข่งขันมากขึ้น ผลประโยชน์สู่ผู้บริโภค
ขอบเขตการบังคับใช้
บังคับใช้กับภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน ประกันภัย บริการและอื่นๆ ตามที่กำหนดโดยกระทรวง ยกเว้น หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มเกษตร/สหกรณ์ และอื่นๆ ตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรการสำคัญในกฎหมาย
- การใช้อำนาจเหนือตลาด (มาตรา 25)
- การควบรวมกิจการ (มาตรา 26)
- การตกลงร่วมกันเพื่อผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน (มาตรา 27)
- พฤติกรรมการประกอบการค้าที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 29)
- ผู้มีอำนาจเหนือตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 75% (มาตรา 30)
หลักการกฎหมาย
- กฎหมายควบคุมพฤติกรรม การมีอำนาจตลาดไม่ผิดแต่การใช้อำนาจโดยมิชอบผิดกฎหมาย
- วิธีการตีความกฎหมาย ใช้หลักเหตุและผล ดูเจตนาเป็นสำคัญ มีเหตุผลประกอบหรือไม่ ดูเหตุผลเชิงประสิทธิภาพ ถ้าตีความแบบนิติศาสตร์พฤติกรรมเหมือนกันจะผิดเหมือนกัน แต่กฎหมายแข่งขันต้องใช้การตีความแบบเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมเหมือนกัน แต่อาจตัดสินผลออกมาไม่เหมือนกัน เช่นในส่วนของมาตรา 29 การพิจารณาพฤติกรรมของผู้ประกอบการต้องดูเจตนาเบื้องหลังการกระทำ ว่าต้องการให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม ต้องการผูกขาด หรือกีดกันรายอื่นออกจากการแข่งขันหรือไม่ เช่น กรณีของ Louis Vuitton ซึ่งเป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายโดยกำหนดให้มีการตกแต่งร้าน การนำเสนอสินค้า การควบคุมสต็อก ตามที่บริษัทกำหนด แต่ห้ามนำสินค้าตราอื่นมาขายในร้านค้า กรณีนี้ไม่ผิดมาตรา 29 เนื่องจาก Louis Vuitton ไม่ได้มีเจตนากีดกันคู่แข่ง เพียงแต่ต้องการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายและรักษาภาพพจน์ของสินค้า แต่ถ้าเป็นกรณีของ ผู้บริโภคประมาณ 90 % ใช้โปรแกรม Window แต่ Microsoft ห้ามผู้ใช้ Window ติดตั้งโปรแกรมของผู้อื่น ซึ่งมีเจตนาที่จะกีดกันคู่แข่งขันให้ออกจากตลาดไป เหลือ Microsoft เพียงรายเดียว กรณีนี้ผิดมาตรา 29 ดังนั้น พฤติกรรมเดียวกันอาจมีผลทางกฎหมายต่างกัน
- ทำไมกฎหมายการแข่งขันต้องมีโทษอาญา? เนื่องจากระบบการเรียกค่าเสียหายตามระบบกฎหมายไทย ต้องเรียกเท่าที่เสียหายจริง แต่เราต้องการเรียกค่าเสียหายให้หลาบจำ จึงต้องมีโทษทางอาญา และหากนิติบุคคลทำผิด กรรมการบริษัทจะต้องมีความผิดด้วย เว้นเสียแต่ว่า จะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำนั้น
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อภิปรายโดย คุณกรกฎ ผดุงจิตต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 27 พฤษภาคม 2548
มุมมองผู้ประกอบการ
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าบังคับใช้มาแล้ว 6 ปี ซึ่งภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ ถ้าดูเฉพาะตลาดในประเทศไทย ธุรกิจอาจมีขนาดใหญ่ แต่ถ้าดูในตลาดโลกอาจจะเล็กเพียงนิดเดียว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในตลาดโลกได้ ต้องหลักดันให้บริษัทมีขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการคุมกำเนิดธุรกิจไม่ให้เติบโตหรือไม่
ผู้ประกอบการจะต้องศึกษารายละเอียดในแต่ละมาตราที่บัญญัติไว้ในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและต้องตีความ เพื่อให้รู้ว่าการกระทำอะไรที่เข้าข่ายความผิด และพฤติกรรมใดที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะหากผู้ประกอบการกระทำผิด จะได้รับโทษทางอาญา ปรับไม่เกินหกล้านบาท โดยเฉพาะโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบกลัวและถือว่าเป็นบทลงโทษที่หนัก ดังนั้น จึงเสนอว่าน่าจะมีกระบวนการเสริม คือ ระบบให้คำปรึกษา Consultation ตักเตือนก่อน ให้มีการปรับปรุง และมีการอบรมในภาคธุรกิจให้มีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อภิปรายโดย คุณวิโรจน์ ณ บางช้าง สมาคมพลังผู้บริโภคแห่งประเทศไทย 27 พฤษภาคม 2548
มุมมองผู้บริโภค
พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ออกมาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัย กลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครอง ผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอน จัดระเบียบการค้าให้เป็นธรรม แต่กฎระเบียบเกณฑ์ต่างๆ ออกช้า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น กรณีเหล้าพ่วงเบียร์ เป็นพฤติกรรมตามมาตรา 25 (2) แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้เพราะเกณฑ์กติกายังไม่ออก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อน นอกจากนี้ได้กล่าวถึงพฤติกรรมจำกัดการแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ มีการกำหนดราคาร่วมกัน ให้ส่วนลดราคาขายปลีก มีผลกระทบต่อผู้บริโภคคือราคาสินค้าสูงขึ้น โทรคมนาคม มีพฤติกรรมบังคับขายพ่วงเครื่องลูกขาย และ เหล้าเบียร์ มีพฤติกรรมบังคับขายพ่วง ตัดราคาคู่แข่ง
ได้ยกตัวอย่างบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงและมีอำนาจเหนือตลาด ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ เช่น การสื่อสาร เครื่องดื่ม รถยนต์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้มี ผู้ประกอบการรายใหญ่ และบางอุตสาหกรรมมีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทย และ ปตท. เป็นต้น และได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ธุรกิจกับการเมือง
ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันยังไม่เข้มแข็งพอ โดยเฉพาะปัญหาเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีผู้แทนมาจากสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เห็นว่าควรมีผู้แทนจากสมาคมผู้บริโภคและนักวิชาการอิสระ เสนอให้แก้ไข มาตรา 6 วรรค 2
แนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เสนอให้รีบประกาศกติกาให้เป็นธรรม ตามมาตรา 8 และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าควรมีบทบาทในการติดตามความเคลื่อนไหวและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการและประกาศว่าใครมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 40% ตาม มาตรา 18 (3) และ (4)
กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อภิปรายโดย Mr. Isao Kasabuchi จาก JFTC 27 พฤษภาคม 2548
มุมมองของ Mr. Isao Kasabuchi
เพื่อแก้ปัญหาในการตีความกฎหมาย ขอให้เทียบเคียงกับ AMA ซึ่งมีกว่า 100 มาตรา ก็มีปัญหานี้เช่นกัน จึงได้มีการออก Guidelines ตีความแต่ละมาตรา มีมากกว่า 10 ฉบับ เช่น Guidelines สรุปการกระทำขององค์กรต่างๆ ที่เข้าข่ายความผิดกฎหมาย AMA หรือไม่ Guidelines การกระทำธุรกิจระหว่างองค์กร Guidelines การควบรวมธุรกิจ เป็นต้น ที่มาของ Guidelines มาจาก ผู้ประกอบการต้องการให้ตีความกฎหมายในแต่ละมาตรา นอกจากมี Guidelines ตีความกฎหมายแล้ว ยังมี Guidelines รายอุตสาหกรรมด้วย เช่น ไฟฟ้า ประปา แก๊ส โทรคมนาคม เป็นต้น โดยทำร่วมกับกระทรวงอื่น และทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเป็นเวลา 1 เดือน นำความเห็นมาประมวลและประกาศออกใช้ แต่อย่างไรก็ตาม JFTC มีอำนาจตามกฎหมาย ว่าร่างสุดท้ายที่ออกมาไม่ต้องผ่านรัฐมนตรี หรือ ครม. แต่อย่างไร เป็นอำนาจเด็ดขาดของ JFTC
ระบบ Pre Consultation เป็นระบบที่องค์กรภาคเอกชน ต้องการให้มี ขอมาปรึกษาก่อนได้ทั้งทางโทรศัพท์และขอปรึกษาได้โดยตรง ในแต่ละปีมีการปรึกษา 200-300 กรณีต่อปี ข้อปรึกษาที่คิดว่ามีประโยชน์ก็จะประกาศให้ประชาชนทราบ โดยทำเป็นหนังสือรวมเล่มของ JFTC แต่จะไม่ระบุชื่อบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงจุดยืนของ JFTC
คณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรม (JFTC) มี 5 คน ใช้มติเสียงข้างมาก มีบทบัญญัติข้อหนึ่งว่า ใครที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมนั้น จะไม่มีสิทธิออกเสียง ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น มาก่อน เพราะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงมาก่อน จึงไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจ ส่วนของประเทศสหรัฐฯ มีคณะกรรมการ 5 คนเช่นกัน มีบางกรณีที่คณะกรรมการบางคนไม่ออกเสียง เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจนั้นๆกรณีที่พบมาก คือ กรรมการ FTC เป็นทนายความเก่า ของบริษัทนั้นมาก่อน
สำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน โทร. 0-2547-5427-34