www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ

" บทวิเคราะห์นี้เป็นทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน หากหน่วยงานใดนำไปพิมพ์เผยแพร่ในสื่อใด ๆ โปรดอ้างชื่อผู้เขียน และชื่อรายงานกำกับด้วย"

รัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดการส่งออกและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการทำเขตการค้าเสรีจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุผลดังกล่าว โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะทำ FTA กับสหรัฐ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรสูงถึง 286.9 ล้านคน มี GDPสูงถึง 11,735 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเกือบ 1 ใน 3 ของโลก ประกอบกับสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้ากับไทยมานาน ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาความคืบหน้าของการเจรจาได้หารือไปแล้ว 3 รอบ ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ แม้ว่ายังไม่มีการยอมรับหรือทำข้อตกลงใด ๆ ก็ตาม แต่การเจรจายังคงดำเนินต่อไป

ภาพรวมการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ

สหรัฐถือเป็นตลาดสินค้าที่ใหญ่และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยในปี 2546 และ 2547 มีการนำเข้าถึง 1,257,121 และ 1,470,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ซึ่งเป็นการนำเข้าสินค้าไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.19 ของการนำเข้าสหรัฐทั้งหมด นอกจากนี้สหรัฐยังเป็นคู่ค้าหลักของไทย โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 12,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของการส่งออกไทยทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าของไทยจากสหรัฐมีมูลค่าเฉลี่ย 7,109 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของการนำเข้าไทยทั้งหมด ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐมาตลอด โดยล่าสุดในปี 2547 ไทยส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่าเท่ากับ 15,516.8 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี และนำเข้าจากสหรัฐเท่ากับ 7,215.4 ล้านดอลลาร์ เช่น สินค้าแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐเท่ากับ 8,301.4 ล้านดอลลาร์

ตารางดุลการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ระหว่างปี 2537 - 2548 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร หมายเหตุ : ปี 2548 เป็นตัวเลขเบื้องต้น

 

ประเด็นในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ

ประเด็นในการเจรจาประกอบด้วย การเปิดตลาดสินค้าเกษตร, การเปิดตลาดอุตสาหกรรม, การเปิดตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์, อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า, กฎแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการและระเบียบพิธีการด้านศุลกากร, การเปิดเสรีภาคบริการ, การเปิดเสรีภาคการลงทุน, แรงงาน, สิ่งแวดล้อม, ทรัพย์สินทางปัญญา, พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, โทรคมนาคม, การแข่งขันทางการค้า, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การสร้างขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (TCB/SMEs), การระงับข้อพิพาท, ความโปร่งใส ,การเปิดเสรีทางการเงิน ที่มา : กองการค้าสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ

ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

การทำ FTA ไทย-สหรัฐ น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม กล่าวคือ ช่วยให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามากขึ้นส่งผลให้มีการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้นและทำให้มีการขยายตัวทางการค้า ซึ่งไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกและส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและประมง เช่น น้ำตาล กุ้ง ข้าว และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อีกทั้งในระยะยาวถือเป็นการกดดันให้ขบวนการศุลกากรและกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐบาลไทยให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใสมากขึ้น อย่างไรก็ตามการทำ FTA อาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อภาคธุรกิจบางกลุ่ม โดยในส่วนของภาคเอกชนและภาคการผลิตไทยจะต้องมีการเร่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพเพื่อที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องยืดเวลาในการทำข้อตกลงให้ผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีความพร้อมออกไปให้นานที่สุดและมีมาตรการการช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อที่จะสามารถปรับตัวรองรับได้ทัน เพราะการทำ FTA ไทย-สหรัฐจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อภาครัฐและสังคมอย่างมาก ดังรายละเอียดคือ

- ภาคการเกษตร

ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปสหรัฐยังคงสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและมีอัตราการขยายตัวที่ดี โดยในปี 2546 และ 2547 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐมีมูลค่าเท่ากับ 991.9 และ 1,048.6 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการขยายตัวเท่ากับร้อยละ 21.83 และ 5.72 จากปีก่อน แต่สินค้าเกษตรของไทยยังมีอุปสรรคในการส่งออกไปสหรัฐอยู่มากทั้งทางด้านมาตรการภาษีและมิใช่ภาษี เช่น

1. การตรวจสินค้าตามมาตรการสุขอนามัยซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้เนื่องจากปัญหาเรื่องศัตรูพืชในผลไม้ไทย 6 ชนิด (ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ มะม่วง เงาะ สับปะรด)

2. การอุดหนุนทั้งการผลิตและการส่งออกภายในประเทศของสหรัฐ เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกต่ำ ส่งผลให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ยากขึ้น 3. มาตรการการจำกัดโควตา เช่น โควตาน้ำตาล ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ในปี 2547 ไทยผลิตน้ำตาล (ทรายดิบ ทรายขาว ทรายบริสุทธิ์) ได้ประมาณ 4.65 ล้านตัน ไทยได้รับจัด สรรโควตาน้ำตาลทรายดิบจากสหรัฐปีละประมาณ 14,743 ตัน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดส่งออกน้ำตาลของไทยและปริมาณนำเข้ารวมของสหรัฐในแต่ละปี โดยปริมาณการบริโภคน้ำตาลในสหรัฐนับว่าสูงมาก มีการนำเข้าถึงประมาณปีละ 2.1 ล้านตัน (ทั้งในและนอกโควตาภาษี) 4. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ทั้งนี้ สหรัฐได้มีตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้ากุ้งไทย ทั้งที่ไทยมีข้อมูลในด้านต้นทุนที่ชัดเจนว่าเกษตรกรไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ไทยมีเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ดี ทำให้สามารถส่งออกกุ้งในราคาที่ต่ำกว่ากุ้งของสหรัฐ

ประเด็นที่ควรพิจารณา

ประเด็นด้านบวก

การทำ FTA ไทย-สหรัฐ จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในประเทศให้มีทางเลือกในการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐได้มากขึ้นและราคาถูกลง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้วัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ในราคาที่ถูกลง เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด และผู้ผลิตที่ส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและการประมง เช่น น้ำตาล กุ้ง ข้าว สับปะรด ปลา ผลไม้

ประเด็นด้านลบ

ส่งผลกระทบต่อเกษตรบางกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้าที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐโดยเฉพาะสินค้าถั่วเหลืองและข้าวโพดเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าของเราแพงกว่าการนำเข้าจากสหรัฐ เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด ก็จะได้รับกระทบจนอาจจะต้องเลิกปลูกไป

ข้อแนะนำ

ในการเจรจาไทยควรผลักดันให้สหรัฐฯ เปิดตลาดสินค้าเกษตรให้มากยิ่งขึ้นและการเปิดตลาดก็ต้องไม่ติดเงื่อนไขกฎหมายของแต่ละรัฐเหมือนการทำ FTA กับจีน พร้อมกันนี้สินค้านำเข้าเกษตรยังมีอัตราภาษีที่สูงในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 และจำเป็นต้องใช้เป็นวัตถุดิบ ไทยควรใช้โอกาสจากการเจรจา FTA ในการลดอัตราภาษีและอุปสรรคการนำเข้า เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำลงสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยรัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือและความรู้ให้แก่เกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำ FTA เพื่อที่จะสามารถปรับตัวได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรไทยต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น ข้าวซึ่งถือว่าเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากของไทย ซึ่งในขณะนี้สหรัฐกำลังพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ในโครงการที่ชื่อ The Stepwise Program for Improvement of Jasmine Rice for the United States ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา ดังนั้น หากสหรัฐทำได้สำเร็จ สินค้าข้าวไทยจะต้องแข่งขันกับสหรัฐฯ

- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ประเทศไทยสามารถส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐเป็นอันดับแรก โดยในปี 2545-2547 มีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 54 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด และเป็นสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐอันดับ 2 รองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งทอไทยต้องเผชิญการกีดกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจำกัดโควตาแต่ได้มีการยกเลิกมาตรการนี้ในเดือนมกราคม ปี 2548 และมาตรการกำหนดแหล่งกำเนิดสิ่งทอและเสื้อผ้าซึ่งไทย-สหรัฐ ใช้หลักการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transfomation) กล่าวคือ ถ้าไทยนำเข้าผ้าผืนและแปรสภาพสินค้าในไทยเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ถือเป็นแหล่งกำเนิดสินค้าไทย เพราะมีการเปลี่ยนพิกัดสินค้า สำหรับในการเจรจาครั้งนี้ สหรัฐได้เจรจาเสนอให้ไทยใช้แหล่งกำเนิดสิ่งทอและเสื้อผ้า รูปแบบ Yarn Forward หรือการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในไทย-สหรัฐ 100% กล่าวคือ หากต้องการให้แหล่งกำเนิดสิ่งทอเป็นของประเทศผู้ผลิตจะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศผู้ผลิตเองหรือนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐ ตั้งแต่เส้นด้ายจนถึงสินค้าสำเร็จรูป

ประเด็นที่ควรพิจารณา

ประเด็นด้านบวก

ผู้ส่งออกสิ่งทอไทยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศหรือนำเข้าจากสหรัฐจะได้รับประโยชน์ ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ประเด็นด้านลบ อุตสาหกรรมนี้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสหรัฐ และสหรัฐถือเป็นตลาดใหญ่ ไทยคาดหวังว่าอุตสาหกรรมนี้จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี แต่สหรัฐกลับมีเงื่อนไขที่สูงจนอาจจะทำให้ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยได้รับผลประโยชน์น้อยมากจากการเปลี่ยนเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้า เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตผ้าผืนบางชนิดที่มีคุณภาพในการตัดเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้ด้วยการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด เช่น ผ้าร่ม

ข้อแนะนำ

ในภาวะปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงซึ่งสิ่งทอไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากจีนซึ่งมีความได้เปรียบจากแรงงานที่ถูกกว่า ดังนั้น การทำ FTA กับสหรัฐเป็นเรื่องจำเป็นซึ่งไทยต้องยอมรับเงื่อนไขที่สหรัฐต้องการในเรื่องแหล่งกำเนิดสิ่งทอ แต่อาจจะเจรจาต่อรองให้มีข้อยกเว้นต่อท้ายเพื่อรับสิทธิในการลดภาษีภายใต้ FTA และในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Industrial Linkage) ผู้ผลิตไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำเพื่อสามารถผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอกลางน้ำและปลายน้ำได้ (Forward Linkage) เพื่อที่จะรับประโยชน์จากการเปิดเสรี

- ทรัพย์สินทางปัญญา

ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี้ไทยได้ปฏิบัติตามกฎของ WTO กล่าวคือ กฎหมายสิทธิบัตรไทยให้การคุ้มครองเฉพาะจุลินทรีย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นไม่รวมถึงพืช สัตว์ แต่ในการเจรจานี้ สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ให้ไทยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ทัดเทียมกับการคุ้มครองของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการตกลงที่เข้มงวดกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก (TRIP PLUS) ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และต้องการให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการ คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) รวมทั้งการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยา จากเดิมคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยา 20 ปีเป็น 25 ปี

ประเด็นด้านบวก ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแทบจะไม่มีเลย

ประเด็นด้านลบ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและภาระที่รัฐบาลต้องแบกรับกล่าวคือ

- ทำให้บริษัทข้ามชาติเป็นผู้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ราคาสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรจะลดลง - อายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยายาวเท่าไหร่จะทำให้เราจะต้องบริโภคยาที่แพงนานขึ้น ผู้ป่วยมีค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้ใช้ยา ในส่วนของรัฐบาลที่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการเสียค่าใช้จ่ายในราคายาที่แพงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเพราะว่าในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว

ข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้รัฐบาลควรเจรจากับสหรัฐโดยไม่ให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าข้อตกลงของ TRIPs รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆเข้าสู่ตลาดยาและด้านเกษตรเพื่อให้มีผู้ประกอบการใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน พร้อมกันนี้รัฐบาลควรมีวิธี มาตรการในการป้องกันและรองรับผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการผูกขาด

- การลงทุน

ไทย-สหรัฐ ได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (Treaty of Amity and Economic Relations) ในปี พ.ศ.2509 สนธิสัญญานี้ให้สิทธิแก่คนอเมริกันที่เข้ามาลงทุนหรือประกอบธุรกิจในไทยเท่าเทียมกับคนไทย (National Treatment) ยกเว้นธุรกิจ 6 ประเภท การสื่อสาร การขนส่ง การดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การเงินและการธนาคารที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางเกษตรพื้นเมืองและการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ การให้สิทธิแก่สหรัฐดังกล่าวนับว่าขัดกับหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Treatment : MFN) ขององค์การการค้าโลกที่ต้องให้สิทธิเท่ากันทุกประเทศ โดยไทยขอยกเว้นจากหลักการนี้ (MFN Exemption)เป็นการชั่วคราวภายใต้ความตกลงการค้าบริการ และได้รับอนุมัติจนถึงสิ้นปี 2547 ที่ผ่านมานี้ สหรัฐได้เจรจาขอสิทธิพิเศษจากการเปิดเสรีการลงทุนเพิ่มเติมภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและจะเป็นกรอบการตกลงใหม่ระหว่างไทย-สหรัฐ โดยมีสาระสำคัญของข้อตกลง คือ สหรัฐเรียกร้องไทยให้มีการคุ้มครองการลงทุนและนักลงทุนสหรัฐ การปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลไทย นอกจากนี้นักลงทุนสหรัฐสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรัฐบาลไทยได้อีกหลังจากฟ้องร้องค่าเสียหายจากภาคเอกชนที่ทำการค้าร่วมกัน และหากการลงทุนของสหรัฐได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ นักลงทุนสหรัฐสามารถฟ้องร้องชดเชยสิทธิประโยชน์ได้ เช่น เมื่อรัฐบาลไทยออกมาตรการมาภายหลัง และส่งผลกระทบประโยชน์นักลงทุนสหรัฐจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

ประเด็นด้านบวก

ภาคการลงทุนของไทยจะเกิดการแข่งขันกันมากขึ้นเพราะเงินทุนจากสหรัฐจะไหลเขาสู่ประเทศไทย จากการคุ้มครองดังกล่าวเป็นแรงจูงใจ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว รวมทั้งยังทำให้นักลงทุนไทยมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

ประเด็นด้านลบ

แม้ว่าการเจรจาในครั้งนี้ไทยยังไม่รับขอเสนอเพราะไทยมีโอกาสเสียเปรียบมากกว่า แต่อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไทยจึงควรให้ความสำคัญในการเจรจาประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะหากไทยยอมรับข้อเสนอนี้จะทำให้รัฐบาลขาดการยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายการลงทุนรวมทั้งนโยบายด้านอื่น ๆ ประกอบกับไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกฎเกณฑ์และการจำกัดความในการปฏิบัติที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองนักลงทุนสหรัฐ และการออกกฎระเบียบในประเทศก็อาจจะส่งผลเสียหายแก่นักลงทุน จุดนี้อาจจะทำให้เกิดข้อพิพาทได้ง่าย และทำให้นักลงทุนไทยอาจจะรู้ไม่ทันสหรัฐจนทำให้ได้รับความเสียหายได้

ข้อเสนอแนะ

ไทยควรสงวนสิทธิในการคุ้มครองการลงทุนตามที่สหรัฐเสนอขอ โดยแนวทางที่ไทยจะดำเนินการคือ การที่สนธิสัญญาไมตรีได้หมดอายุลง ไทยไม่ควรต่ออายุ MFN Exemption ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นๆได้รับสิทธิเท่ากับที่สหรัฐภายใต้สนธิสัญญา ในส่วนของสหรัฐนั้นอาจจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากการเจรจา FTA กับ ไทย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เสนอขอเพราะไทยมีโอกาสเสียเปรียบจากความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐ ขณะที่การที่ไทยจะไปลงทุนในสหรัฐก็มีโอกาสน้อยกว่าที่สหรัฐจะเข้ามาลงทุนในไทย

- การบริการทางการเงิน

ข้อตกลงด้านบริการทางการเงิน คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการของแต่ละฝ่ายผู้ประกอบการ และให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าประกอบธุรกิจในตลาดบริการทางการเงินของกันและกันในสาขาธนาคาร การประกันภัยและบริการที่เกี่ยวกับการประกันภัยและบริการทางการเงินอื่น ๆ รวมทั้งประเทศคู่สัญญาจะต้องให้การคุ้มครองธุรกรรมทางการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้รับสิทธิพิเศษ

ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ประเด็นด้านบวก

ในประเด็นบริการทางการเงินนี้ ไทยได้เลื่อนการเปิดเสรีภาคการเงินออกไป 3 ปี จนถึงปี พ.ศ.2550 หากมีการเปิดเสรีทางการเงินแล้ว น่าจะทำให้มีช่องทางในการลงทุนมากขึ้นสำหรับนักลงทุนทั้ง 2 ฝ่าย

ประเด็นด้านลบ

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยอาจจะได้รับประโยชน์น้อยกว่าสหรัฐในการเข้าทำธุรกรรมทางการเงินในตลาดของประเทศคู่สัญญา เนื่องจากในภาวะปัจจุบันสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิตและประกันภัยของไทยยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี บุคคลากรและBrand name ทำให้ไม่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่สหรัฐจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างเสรีอันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ไทย แม้ว่าทางการจะมีแผนแม่บททางการเงินเพื่อยกระดับให้ธนาคารพาณิชย์ไทยทำธุรกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการเปิดเสรีทางการเงินขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไป

ข้อเสนอแนะ

รัฐบาลควรสนับสนุนการเปิดโดยใช้แนวทางการเจรจาแบบ Positive Listed คือ เปิดเสรีในรายการที่มีการระบุ ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) กระทรวงพาณิชย์ มากกว่าการเปิดแบบ Negative Listed คือ เปิดเสรีรายการที่ไม่มีการระบุ (จะระบุเฉพาะรายการที่ไม่ต้องการเปิดเสรี) ในส่วนของสถาบันการเงินไทยและผู้ประกอบการควรพัฒนาคุณภาพการบริการและเครื่องมือทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ และภาครัฐ (ธปท.และกลต.) ควรที่จะมีมาตรการและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อป้องกันช่องทางให้สหรัฐแสวงหาผลประโยชน์ รวมทั้งต้องมีกฎหมายและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพที่จะดูแลธุรกรรมทางการเงินที่ยากต่อการควบคุมและมีรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดผลเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้เพราะสหรัฐมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินมากกว่า ถ้าไทยตามไม่ทันอาจสูญเสียเอกราชทางการเงินได้

ความร่วมมือในการสร้างขีดความสามารถทางการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ด้านวิทยาศาสตร์, ด้านแรงงาน, ด้านสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเหล่านี้เป็นความร่วมมือทั้ง 2 ประเทศ ได้ตกลงที่จะเริ่มโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยของไทย 29 โครงการ ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้กฎระเบียบด้านมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐได้ การเขียนแผนทางธุรกิจเพื่อขอเงินกู้ การให้ข้อมูลและการจัดแหล่งเงินกู้ การจัดให้กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยและสหรัฐ การฝึกอบรมให้รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานไทยที่ให้บริการแก่ SME ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสหรัฐตอบรับที่จะร่วมมือกับไทยในโครงการใหญ่ ๆ 9 โครงการ เช่น การใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพบนอวกาศในการเตือนภัยธรรมชาติและการใช้พลังงานทดแทน ส่วนด้านแรงงานนั้นฝ่ายไทยให้ความ สำคัญกับเรื่องการพัฒนาระดับมาตรฐานแรงงานของไทย โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ ให้ผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย การส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย และด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) เพื่อที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา : กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ

บทสรุป

การทำ FTA ไทย-สหรัฐนั้น จะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ผลประโยชน์ทั้งหมดและจะเสียประโยชน์อย่างเดียว ในการนี้ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องมองถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศระยะยาวเป็นหลักมิใช่มองผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือมองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น เพราะหากระยะแรกอาจจะได้ประโยชน์แต่ในระยะยาวอาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ทนจนนำมาซึ่งถือเป็นความเสียหายโดยรวมของประเทศได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ และความรอบคอบ รวมทั้งความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองโดยเฉพาะการเจรจากับสหรัฐที่เป็นประเทศมหาอำนาจ มีอำนาจการต่อรองและบีบบังคับสูง

ทั้งนี้ก่อนเจรจารัฐบาลควรที่จะศึกษาและเรียนรู้จากประเทศอื่นๆที่ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐว่ามีผลกระทบอย่างไร เช่น ประเทศเม็กซิโกได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งประเด็นในข้อตกลงไม่แตกต่างกับ FTA ไทย-สหรัฐ แล้วนำมาพิจารณาถึงผลกระทบต่อไทยโดยมองในเชิงบูรณาการ ทั้งภาคเศรษฐกิจ (การขยายตัวทางค้า ความยากจน การจ้างงาน), สังคม (การศึกษา สาธารณูปโภค), การเมือง (การกำหนดนโยบาย) รวมทั้งรัฐบาลควรที่จะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงและชี้แจ้งกับประชาชนให้กระจ่างว่าประเด็นใดที่ไทยยอมเจรจาและไม่ยอมเจรจา และเมื่อทำ FTA แล้วไทยจะได้ประโยชน์ในแง่ใดบ้างและอะไรเสียประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุนและการเปิดเสรีทางการเงินซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้าง รัฐบาลควรให้ความสนใจระมัดระวังและรอบคอบเป็นพิเศษ นอกจากนี้รัฐบาลควรให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

การทำ FTA ระหว่างไทย-สหรัฐนั้น ไทยจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรองและการเลือกประเด็นที่น่าสนใจมาเจรจา โดยเฉพาะการเจรจากับสหรัฐ รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประเทศอย่างการทำ FTA ที่ผ่าน ๆ มา โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาเจรจาน่าจะพิจารณาจากสินค้าที่สหรัฐมีการนำเข้ามาก ซึ่งไทยอาจจะส่งออกมากอยู่แล้วให้มากขึ้นหรือที่ไทยยังส่งออกไม่มากนัก ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันไทยก็ควรบริหารการนำเข้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศ

 

 

ผู้เขียน/ผู้วิเคราะห์ : น.ส.วรางคณา เลาหเดช โทร. 0-2208-3579

สำนักงานวิจัยธุรกิจ โทร 02-208-8976-7 ปีที่ 9 ฉบับที่ 14 เดือน พฤษภาคม 2548

 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว