www.Nattakae.webs.com
เศรษฐกิจการเงิน | การพัฒนาเศรษฐกิจ | เศรษฐกิจยางพารา | WEBBOARD | BLOG | แนะนำตัว

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ FTA ไทย - สหรัฐฯ บทบริการด้านการเงิน

1. ภาพรวม FTA ไทย - สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะ พระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นาย George W. Bush ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา (FTA ไทย - สหรัฐฯ) โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2545 ไทยได้ลงนามในกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement - TIFA) กับสหรัฐฯ แล้ว

การเจรจารอบแรกมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2547 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ขณะนี้ได้มีการเจรจากันไปแล้ว 6 รอบ โดยล่าสุดจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549

การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ นับเป็นการเจรจาการเปิดเสรีที่ครอบคลุมหลากหลายสาขา มีประเด็นหลักที่เป็นกรอบการเจรจา 22 เรื่อง ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ระเบียบและพิธีการทางศุลกากร มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคเทคนิคทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน การลงทุน โทรคมนาคม การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ การแข่งขันทางการค้า แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถทางการค้า เรื่องกฎหมาย และบททั่วไป

การเจรจา FTA ไทย - สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด (การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2548 มีมูลค่า 17,064.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 683,096 ล้านบาท โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 8,380.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 333,660 ล้านบาท) และการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยมากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น (การลงทุนของสหรัฐฯ ในปี 2548 มีมูลค่า 8,689 ล้านบาท) จากการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศอื่น ๆ เช่น จีน และเม็กซิโก ในตลาดสหรัฐฯ สินค้าไทยมีแนวโน้มจะแข่งขันได้ยากขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ กำลังทำ FTA กับหลายประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ ไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เพื่อรักษาตลาดสหรัฐฯ ตลอดจนขยายตลาดในสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพ

การทำ FTA ยังจะช่วยในการขจัดหรือลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) การปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศให้เข้าสู่ระบบสากล และการดำเนินมาตรการสุขอนามัย พืชและสัตว์ (SPS) ให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าโดยตรงแล้ว FTA กับสหรัฐฯ จะดึงดูดเงินลงทุนและการลงทุนจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกด้วย รวมถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมขีดความสามารถของ SME ของไทย และความร่วมมือด้านพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ทั้งในด้านการปรับปรุงคุณภาพ และมาตรฐานโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ประเด็นที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญและผลักดันอย่างมากคือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า การเกษตร สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป SPS และเรื่องอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) ส่วนสาขาที่ฝ่ายสหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเปิดเสรีบริการด้านการเงิน การบริการข้ามพรมแดน การลงทุน และโทรคมนาคม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เจรจา FTA กับสหรัฐฯ โดยมีสิงคโปร์เป็นประเทศแรก (ลงนามเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 และเริ่มใช้บังคับเมื่อเดือนมกราคม 2547) ประเทศอื่นที่สหรัฐฯ ได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีด้วยแล้ว ได้แก่ อิสราเอล จอร์แดน กลุ่มประเทศอเมริกากลาง (CAFTA) โมร็อกโก ชิลี บาร์เรน และออสเตรเลีย และกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับอีกหลายประเทศ เช่น กลุ่มแอนเดียน Southern African Customs Union

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ชะลอการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ออกไปก่อนนับตั้งแต่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ ล่าสุดสหรัฐฯ ได้เริ่มเจรจากับเกาหลีใต้และมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจากับทั้งสองประเทศได้ในปีนี้

2. FTA ไทย-สหรัฐฯ บทบริการด้านการเงิน (Financial Services Chapter)

สำหรับการเจรจาความตกลงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีบริการด้านการเงินนั้น กระทรวงการคลังมีบทบาทเป็นแกนหลักในการเจรจา โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจากลุ่มย่อยบทบริการด้านการเงิน โดยมีผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมการประกันภัย เข้าร่วมเป็นคณะเจรจา นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน เช่น สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น เป็นที่ปรึกษาระหว่างการเจรจาแต่ละครั้งที่ผ่านมา

ในการดำเนินการ กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน และสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ เป็นเลขานุการ และประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมการประกันภัย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทเงินทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการการลงทุน สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สมาคมธุรกิจบัตรเครดิต เป็นต้น ทำหน้าที่เพื่อวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจาแต่ละครั้ง

การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ บทบริการด้านการเงินได้ดำเนินการมาแล้ว 6 รอบ โดยมีความคืบหน้าของการเจรจาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การยกร่างความตกลงร่วมกัน (Consolidated Text) และการเจรจาด้านการเปิดตลาด (Market Access) โดยฝ่ายสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีเกี่ยวกับการให้บริการด้านการเงินมากขึ้น เช่น ขอให้ยกเลิกการจำกัดจำนวนใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านการเงินต่างๆ ขอให้ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นและกรรมการที่เป็นชาวต่างชาติ ขอให้เปิดการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน ให้คนไทยนำเงินไปซื้อบริการในต่างประเทศได้ และขอให้ไทยคุ้มครองการลงทุนแก่ธุรกิจการเงินและมีกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา โดยยังไม่มีข้อผูกพันระหว่างกันใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ฝ่ายไทยเรียกร้องให้ฝ่ายสหรัฐฯ พิจารณาประเด็นที่เป็นข้อกังวลหลักๆ ของฝ่ายไทย เช่น การใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย การกำกับควบคุมบริการการเงินใหม่ๆ การออกมาตรการใหม่ๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบใช้บังคับในปัจจุบันโดยไม่ถือเป็นการกระทบสิทธิของนักลงทุนต่างชาติ และไทยยังไม่ประสงค์ให้นักลงทุนเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้โดยตรง (สามารถฟ้องร้องผ่านกลไกรัฐต่อรัฐได้) เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา

 

ส่วนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มนโยบายเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

18 เมษายน 2549

http://www.fpo.go.th/fsl/USA%20content1.html

 

 

 


เศรษฐกิจการเงิน   |  การพัฒนาเศรษฐกิจ  |  เศรษฐกิจยางพารา  |  WEBBOARD  |  BLOG  |  แนะนำตัว