www.Nattakae.webs.com |
การเงินระหว่างประเทศ
1 บัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (Balance of Payments account)
บัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ คือ บัญชีที่สรุปการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยบัญชีหลัก 3 บัญชี คือ บัญชีกระแสรายวัน บัญชีทุน และบัญชีเงินสำรองระหว่างประเทศ การบันทึกบัญชีจะยึดหลักการลงบัญชีคู่ รายการใดที่แสดงถึงการได้รับเงินตราต่างประเทศจะเป็นรายการด้านเครดิตหรือรายการบวก (+) และรายการใดที่แสดงถึงการจ่ายชำระเงินให้ต่างประเทศจะเป็นรายการด้านเดบิทหรือรายการลบ (-)
บัญชีกระแสรายวัน (current account) ใช้ลงบันทึกรายการที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ที่นำเข้าหรือส่งออก รวมทั้งการบริจาค เงินโอน ประกอบด้วยดุลการค้า ดุลบริการ และดุลบริจาค ดุลการค้า รายการซื้อสินค้าจากต่างประเทศและการส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ ผลต่างสุทธิของมูลค่าสินค้านำเข้าและส่งออกเมื่อสิ้นปี เรียกว่าดุลการค้า ดุลบริการ รายการซื้อขายบริการทางด้านการท่องเที่ยว การขนส่ง การประกันภัย นายหน้า ที่ปรึกษา การธนาคาร การใช้จ่ายทางทหารของรัฐบาล ตลอดจนผลตบแทนที่ได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไร ดุลบริจาค การบริจาคเป็นการโอนเงินหรือโอนสินค้าให้เปล่า การบริจาคแยกเป็น การบริจาคของภาคเอกชน และการบริจาคของภาครัฐบาล
บัญชีทุน (capital account) บัญชีทุนแสดงการบันทึกรายการเกี่ยวกับการลงทุน การกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ การลงทุนในต่างประเทศทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล บัญชีเงินสำรองระหว่างประเทศ (International reserves account) เงินสำรองระหว่างประเทศ ประกอบไปด้วย ทองคำ และสิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Right: SDRs) SDRs เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องระหว่างประเทศให้แก่ประเทศสมาชิก
ทั้งนี้เมื่อประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาเรื่องบัญชีดุลการชำระเงินขาดดุล นโยบายต่าง ๆ ที่สามารถเลือกกระทำได้ คือ
ประการแรก เลือกที่จะปรับปรุงในบัญชีกระแสรายวันโดยขยายการส่งออกและจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (อาจใช้นโยบายการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า) หรือกำหนดโควต้าการนำเข้า หรืออาจใช้นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ลดลง เพื่อราคาสินค้าออกจะได้ถูกลงทำให้การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้านำเข้ามีราคาแพง หรืออาจใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเข้มงวด
ประการที่สอง เลือกที่จะปรับปรุงทางบัญชีทุน โดยกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ ยืมจากธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศ หรือหาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ดีการกู้ยืมจากต่างประเทศทำให้เกิดภาระที่จะต้องคืนเงินในอนาคต ประการที่สาม ขยายวงเงินสำรองระหว่างประเทศโดยเพิ่มสิทธิถอนเงินพิเศษ
2 วิกฤตหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนา
ปัญหาหนี้ภายนอกที่เพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ปกติ เนื่องจากเงินออมภายในประเทศต่ำ บัญชีดุลการค้าขาดดุล ทั้งนี้หลังจากปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมาธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการให้กู้ยืม โดยนำเงินส่วนเกินของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (opec) มาให้ประเทศกำลังพัฒนากู้ยืม ขณะเดียวกันความต้องการเงินกู้ยืมของประเทศพัฒนามีน้อย ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศจึงแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อให้กับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก
3 นโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจขององค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
IMF มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้กู้ 4 นโยบาย คือ
1. ให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงได้อย่างเสรี และควบคุมการนำเข้าสินค้า
2. ลดค่าเงินของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการ
3. ป้องกันการเกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ โดย
- ควบคุมสินเชื่อของธนาคารโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเงินสดสำรองของธนาคาร
- ควบคุมงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล โดยการลดรายจ่าย โดยเฉพาะด้านบริการสังคมให้กับคนยากจนและการให้เงินอุดหนุนด้านอาหาร เพิ่มภาษี ขณะเดียวกันก็ขึ้นราคาของบริการที่เป็นของรัฐ
- ควบคุมค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะให้ขึ้นค่าจ้างแรงงานได้น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ
- สนับสนุนให้มีตลาดการค้าเสรี ยกเลิกการควบคุมในรูปแบบต่าง ๆ
4. เปิดตลาดการค้าสู่สากล โดยการไปลงทุนในต่างประเทศหรือรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ถึงแม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และทำให้ดุลการชำระเงินดีขึ้น แต่ก็เหมือนไปทำร้ายกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำที่ต้องใช้บริการของรัฐบาลในราคาที่สูงขึ้น ความช่วยเหลือจากรัฐบาลลดลง บางคนให้ความเห็นว่านโยบายของ IMF ปิดกั้นการพัฒนาเป็นนโยบายที่ใช้ได้ในระยะสั้น แต่อาจก่อให้เกิดวิกฤตในระยะยาวได้จากการค้าในโลกมีความไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดีในช่วงปี ค.ศ.1997 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ IMF เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีกว่า ก่อให้เกิดการพัฒนาได้มากกว่านโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นสูตรสำเร็จ
4 กระแสเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศ
กระแสเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศ จากประเทศพัฒนาสู่ประเทศกำลังพัฒนาจะมาใน 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
4.1 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเอกชนและบรรษัทข้ามชาติ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI) ของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี ค.ศ.1970 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศประมาณ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 120 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1997 ส่วนใหญ่เงินเหล่านี้ไปลงทุนในแถบทวีปเอเชีย (ประมาณร้อยละ 60) ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น การที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการค้าขยายตัวและการเพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation: MNC) ส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น
บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้จะมาตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้มักมีอิทธิพลต่อค่าจ้างแรงงานและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ขณะเดียวกันก็นำเอาเทคโนโลยีการผลิต รสนิยม รูปแบบการดำรงชีวิต ปรัชญาการจัดการ เข้ามาด้วย บรรษัทข้ามชาติเป็นบรรษัทขนาดใหญ่ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าเป็นการผลิต การดำเนินการ มักถูกควบคุมจากส่วนกลางหรือโดยบริษัทแม่ ปัจจุบันบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สุด 350 บริษัท ควบคุมกิจกรรมทางการค้ามากกว่าร้อยละ 40 ของการค้าทั้งหมด บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะมีสาขาและบริษัทลูกมากมายอยู่ในประเทศต่างๆ เมื่อไปตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาระยะแรกจะเน้นไปทางด้านการทำอุตสาหกรรมขั้นปฐม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน เหมืองแร่ อุตสาหกรรมเกษตร การส่งออกสินค้าเกษตร ต่อมาจะเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ เช่น ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติจะควบคุมกิจกรรมด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าขั้นปฐม ตัวอย่างของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ได้แก่ General Motors Ford Toyota Exxon Shell IBM Unilener
4.2 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของเอกชน (Portfolio investment) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา เงินที่ไหลมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมาลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio investment) เป็นการลงทุนด้านหลักทรัพย์ทางการเงินโดยวิธีซื้อหุ้นของบริษัท หรือพันธบัตร โดยในช่วงปี ค.ศ.1989-1997 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,150 % ทั้งนี้เนื่องมาจากการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนา
การไหลมาของเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อมาลงทุนในหลักทรัพย์ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการเงินพัฒนา และสถาบันการเงินเหล่านี้สามารถนำเงินทุนไปให้กับธุรกิจ หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกู้ยืมได้ แต่อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเงินที่มาลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเวียนไปมาไม่มีความแน่นอน บางครั้งมาอย่างรวดเร็วและไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า เงินร้อน (hot money) ประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงเงินที่มาลงทุนในหลักทรัพย์มากเกินไปจะมีผลทำให้ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ เนื่องจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนไม่ได้ลงทุนระยะยาว เมื่อผลตอบแทนจากประเทศกำลังพัฒนาลดลงเงินเหล่านี้ก็จะเคลื่อนย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอย่างรวดเร็ว
4.3 เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Foreign Aid) เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศของประเทศพัฒนาต่อประเทศกำลังพัฒนามักกระทำกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อาจมาในรูปแบบของเงินให้เปล่า การยกเว้นภาษีต่อสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา การอนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาขายสินค้าอุตสาหกรรมต่อประเทศพัฒนาในราคาสูง เป็นต้น
เหตุผลที่สำคัญที่รัฐบาลของประเทศ ที่ช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา แบ่งออกได้เป็นสองประเด็นคือ แรงจูงใจทางด้านการเมือง และแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ แรงจูงใจด้านการเมือง ตัวอย่างเช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มให้เงินอุดหนุนกับประเทศในแถบยุโรปตะวันตก ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามภายใต้ Marshall Plan โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้ประเทศเหล่านั้นมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ เป็นต้น แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ การให้เงินช่วยเหลือแต่ประเทศกำลังพัฒนาอีกเหตุผลหนึ่งคือ ต้องการขยายการลงทุนของเอกชนและขยายการค้า ตัวอย่างเช่น รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในทวีปเอเซีย เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์คือต้องการขยายการลงทุนไปในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น
4.4 เงินช่วยเหลือจากองค์กรที่มิใช่ของรัฐบาล (Nongovernmental Organizations: NGOs)
องค์การที่มิใช่ของรัฐบาล (NGOs) เป็นองค์กรที่สมัครใจทำงานตามกลุ่มงานที่สนใจ ได้แก่ การคุ้มครองเด็ก การส่งเสริมสิทธิสตรี การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การเพิ่มการผลิตทางด้านอาหาร การจัดหาสินเชื่อให้กับเกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่นชนบท เป็นต้น แรงจูงใจในการทำงานส่วนใหญ่ คือ เพื่อมนุษยธรรม กลุ่มองค์กรเหล่านี้สามารถทำงานได้โดยตรงร่วมกับบุคคลในท้องถิ่น มีแรงกดดันทางการเมืองน้อย ในปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น
ที่มา http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/economic/eco52/index.html