www.Nattakae.webs.com |
นโยบายการค้าระหว่างประเทศ
1 กลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
1.1 การส่งเสริมการส่งออก (Export Promotion) 1. การส่งออกสินค้าขั้นปฐม สินค้าขั้นปฐม (ยกเว้น น้ำมัน) มีส่วนแบ่งในตลาดโลกน้อย และมีแนวโน้มลดลง พิจารณาได้ดังนี้
ด้านอุปสงค์
- ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ของสินค้าเกษตรมีค่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมัน แร่ธาตุบางชนิด และสินค้าอุตสาหกรรม
- ประชากรของประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มคงที่ ดังนั้นโอกาสการขยายสินค้าเกษตรไปยังประเทศพัฒนาจึงเป็นไปได้น้อย
- ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาของสินค้าเกษตรค่อนข้างต่ำ เมื่อราคาสินค้าเกษตรลดต่ำลงและมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้รายได้ของประเทศกำลังพัฒนาลดลง - การพัฒนาสิ่งสงเคราะห์ขึ้นมาทดแทนสินค้าเกษตร เช่น ฝ้าย ยางพารา หนัง เป็นต้น
- การปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนา โดยการเก็บภาษี กำหนดโควต้าหรือมาตรการปกป้องที่มิใช่ภาษี
ด้านอุปทาน
อุปทานของสินค้าเกษตรไม่มีความแน่นอน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร อากาศ ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีสถาบันด้านการเงินและสังคมรองรับในชนบทและรูปแบบการผลิตและการใช้ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ
2. การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศกำลังพัฒนาเติบโตจากร้อยละ 6 ในปี ค.ศ.1950 เป็นร้อยละ 45 ในปี ค.ศ.1990 อย่างไรก็ดีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาในตลาดโลกยังคงน้อยคือประมาณร้อยละ 18 ในปี ค.ศ.1990 ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาได้เพิ่มการกีดกันสินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาทั้งมาตรการกีดกันด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี
มาตรการด้านภาษีได้แก่ การเก็บภาษีจากวัตถุดิบในราคาถูก แต่เก็บภาษีจากสินค้าสำเร็จรูปในราคาแพง
มาตรการที่มิใช่ภาษี ได้แก่ การกำหนดโควต้า การจำกัดการนำเข้า เป็นต้น
1.2 การทดแทนการนำเข้า โดยการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขึ้นมาในเมืองทำการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศ ในระยะแรกของการพัฒนารัฐบาลต้องช่วยโดยการตั้งกำแพงภาษีหรือกำหนดโควต้าการนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันจากต่างประเทศ เมื่อสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประหยัดจากขนาดทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล่านี้อีกต่อไป
จากรูป 10.2 ก) ราคาสินค้าในประเทศเมื่อไม่มีการค้าระหว่างประเทศถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของสินค้า (สมมติเป็นรองเท้า) กำหนดราคาเท่ากับ P1 ประชาชนในประเทศบริโภคสินค้าจำนวน Q1 หน่วย เมื่อมีการค้าระหว่างประเทศราคาสินค้าดังกล่าวในตลาดโลกเท่ากับ P2 ผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตได้เท่ากับ Q2 แต่ความต้องการบริโภคเท่ากับ Q3 ดังนั้นจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวน AB ถ้ารัฐบาลเข้ามาช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตได้มากขึ้น โดยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า สมมติเท่ากับ t0 (รูป 10.2 ข) ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น Pt ทำให้ความต้องการบริโภคลดลงจาก Q3 เหลือ Q5 ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศทำการผลิตเพิ่มขึ้นจาก Q2 เป็น Q4 การนำเข้าลดลงเหลือ Q4Q5 โดยรัฐบาลได้รับภาษีเท่ากับพื้นที่ CDEF ผู้บริโภคในประเทศบริโภคสินค้าในราคาที่แพงกว่าตลาดโลก ผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตได้มากขึ้นการจ้างงานในประเทศมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าการปกป้องอุตสาหกรรมโดยการตั้งกำแพงภาษีเป็นการกระจายรายได้จากผู้บริโภคไปสู่ผู้ผลิต แต่ผู้ผลิตโต้แย้งว่าเมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาวการผลิตสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาสินค้าอาจลดต่ำลงกว่าราคาในตลาดโลกได้
อัตราการคุ้มครองที่แท้จริง (The rate of effective protection)
การใช้อัตราภาษี (norminal rate) ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจะไม่เป็นตัววัดระดับการคุ้มครองการผลิตในประเทศที่ดี ถ้าอุตสาหกรรมการผลิตนี้ยังต้องพึ่ง วัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่สามารถใช้วัดด้วยอัตราการคุ้มครองที่แท้จริง (the rate of effective protection)
วิธีการคำนวณอัตราการคุ้มครองที่แท้จริง การคำนวณจะวัดเป็นเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (Domestic Value Added) มูลค่าเพิ่มจะมีค่าเท่ากับราคาสินค้าสำเร็จรูป หักด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อการผลิตสินค้าที่ได้รับการคุ้มครอง
1.3 นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักกำหนดค่าเงินไว้สูงกว่าความเป็นจริง (overvalue) เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมและการทำอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าขั้นกลาง ทำให้สินค้าเข้ามีราคาถูกลง ซึ่งธนาคารกลางมีนโยบาย 3 ทางเลือก เพื่อที่จะรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าสูงเกินจริงนั้นไว้ ได้แก่
1. ลดเงินสำรองเงินตราต่างประเทศ หรือกู้ยืมจากต่างประเทศ
2. ใช้มาตรการเพื่อลดการนำเข้าหรือจำกัดการนำเข้า ได้แก่ ใช้ภาษีกำหนดโควต้าการนำเข้า เป็นต้น
3. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (exchange control) เป็นการจำกัดด้านอุปทานของเงินตราเพื่อคงไว้ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง
จากรูป 10.3 ถ้าปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด ดุลยภาพจะอยู่ที่ Pe มีอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศที่ M ถ้ารัฐบาลยังต้องการคงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ Pa อุปทานของเงินตราต่างประเทศเท่ากับ Mข (สินค้าออกมีราคาแพงในสายตาของในสายตาของต่างชาติ) ขณะที่ อุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศเท่ากับ M" เกิดอุปสงค์ส่วนเกินเท่ากับ M" - Mข ถ้ารัฐบาลจำกัดอุปทานหรือควบคุมอุปทาน ณ ปริมาณเงินตราต่างประเทศ Mข ผู้มีอุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศยินดีจ่ายเท่ากับ Pb รัฐบาลสามารถหากำไรจากส่วนต่างนี้ได้เท่า Pb - Pa ต่อหน่วย การจำกัดอุปทานเงินตราต่างประเทศรัฐบาลทำได้โดย กำหนดโควต้าให้ไรเซนต์ (licensing device) ซึ่งการกระทำดังกล่าวเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น หรือเกิดตลาดมืดได้
การควบคุมการนำเข้าสินค้ารัฐบาลอาจใช้อัตราแลกเปลี่ยน 2 อัตรา (dual exchange rate) โดยอัตราหนึ่งคงอัตราแลกเปลี่ยนให้สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เพื่อนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลางที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต อีกอัตราหนึ่งต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรืออาจเป็นอัตราที่ไม่เป็นทางการหรืออาจปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ใช้สำหรับสินค้านำเข้าที่ฟุ่มเฟือย
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงทำให้สินค้าส่งออกลดลง ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ความสามารถในการแข่งขันลดลง ขณะเดียวกันสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือเกิดปัญหาดุลการค้าขาดดุล ปัญหาหนี้สิน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอาจลดค่าเงินลงเพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าขาดดุล หรืออาจใช้นโยบายปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวได้อย่างเสรี
ส่วนการใช้นโยบายลดค่าเงิน มีผลทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นในสายตาของคนในประเทศ ถ้าสินค้านำเข้าเป็นสินค้าค่อนข้างจำเป็นอำนาจซื้อของคนในประเทศจะลดลง เพื่อรักษาอำนาจซื้อให้คงไว้ระดับเดิมแรงงานจะเรียกร้องค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ถ้าอนุญาตให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าในประเทศจึงสูงตามไปด้วย เรียกว่า wage-price spiral เมื่อเกิดปัญหาเงินเฟ้อผลที่ตามมาคือ ราคาสินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น ปัญหาการเสียเปรียบดุลการค้าจะเป็นปัญหาที่ตามมา นอกจากนี้บุคคลที่มีรายได้คงที่ ผู้ว่างงาน เกษตรกรผู้ค้าขายขนาดเล็ก ถูกผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ผู้ผลิตขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผู้ทำการส่งออกได้รับผลดีจากการลดค่าเงิน นโยบายดังกล่าวทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น
2 การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
2.1 การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มความสำคัญมากขึ้นจากปี ค.ศ.1974 มีการค้าขายกันประมาณร้อยละ 7 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 ในปี ค.ศ.1990 การค้าขายด้านสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 35 ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่มขึ้น เป็นการชดเชยในอุปสงค์ต่อสินค้าจากประเทศพัฒนาที่ลดลงและการเพิ่มการกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนา นอกจากนี้เหตุผลยังเนื่องมาจากลดความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากการไปอิงอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ่อยครั้ง
2.2 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
1. เขตการค้าเสรี (free-trade area) เป็นวิธีการที่ประเทศในกลุ่มสมาชิกเข้ามาร่วมตกลงที่จะยกเลิกการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกภายในกลุ่ม แต่ยังสามารถกีดกันการค้ากับประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มสมาชิกได้ตามปกติ
2. สหภาพภาษีศุลกากร (customs union) เป็นการรวมกลุ่มซึ่งนอกจากจะมีลักษณะของเขตการค้าเสรีแล้ว แต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิกยังต้องมีการกำหนดมาตรการ หรือนโยบายการค้าเป็นแบบเดียวกันด้วย เช่น มีการกำหนดภาษีสินค้าเข้าอัตราเดียวกันในประเทศสมาชิกทุก ๆ ประเทศ สำหรับสินค้าแต่ละชนิด เป็นต้น
3. ตลาดร่วม (common market) นอกจากประเทศในกลุ่มสมาชิกจะร่วมตกลงยกเลิกการกีดกันการค้าระหว่างกัน และมีการกำหนดมาตรการการค้าเป็นแบบเดียวกันแล้ว การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน และทุน จะเป็นไปอย่างอิสระระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มด้วย
ประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
1. เปิดโอกาสให้ทำการผลิตขนาดใหญ่มีการแบ่งงานกันทำ กิจกรรมบางอย่างต้นทุนสูงหรือไม่สามารถจัดตั้งได้เมื่อดำเนินการผลิตขนาดเล็ก และเพิ่มการค้าขายกันระหว่างประเทศในกลุ่มมากขึ้น
2. ลดการกีดกันทางการค้า และสามารถวางแผนร่วมกันในการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมหนักบางประเภท
3. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิด trade creation กล่าวคือแต่ละประเทศสามารถยกเลิกการผลิตสินค้าชนิดที่ตนเองผลิตแล้วต้นทุนสูง ขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยหันไปซื้อจากประเทศที่ผลิตได้ถูกกว่าแทน นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังอาจก่อให้เกิด trade diversion กล่าวคือ การค้ากับประเทศในกลุ่มสินค้าบางชนิด ถ้าซื้อจากประเทศนอกกลุ่มจะมีราคาถูกกว่า แต่ต้องตั้งกำแพงภาษีให้สูงเพื่อไม่ให้สินค้าจากประเทศนอกกลุ่มมาแข่งขันได้
ที่มา http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/economic/eco52/index.html