www.Nattakae.webs.com |
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนา
1 ทรัพยากรธรรมชาติ (Land or Natural Resources)
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สสารทั้งปวงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงทุกอย่างทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่อยู่ใน ดิน น้ำ และอากาศ ประเทศใดมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น มีแร่ธาตุ สัตว์น้ำ พื้นดินอุดมสมบูรณ์และอากาศที่ไม่หนาวจัดหรือร้อนจัด ประเทศนั้นมีโอกาสนำทรัพยากรต่างๆ มา เพื่อการพัฒนาได้มาก
1.1 ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ 1) ทำให้ประชาชนมีโอกาสยกระดับความเป็นอยู่ดีขึ้น 2) เป็นสิ่งจำเป็นขั้นมูลฐานในการพัฒนาการเกษตร 3) เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม 4) ทำให้มีรายได้ และดำเนินการทางด้านสาธารณูปโภคได้ดียิ่งขึ้น 5) เป็นปัจจัยที่ทำรายได้ให้กับประเทศ 6) เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง
1.2 ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งตามการอนุรักษ์ 1. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทไม่สิ้นเปลือง ได้แก่ ทรัพยากรประเภทที่ใช้ไปแล้วจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่หมดสิ้น เช่น น้ำ และอากาศ 2. ทรัพยากรประเภทสิ้นเปลือง ได้แก่ ทรัพยากรที่ใช้แล้วจะหมดเปลืองไปและในที่สุดจะหมดสิ้นไปเลย ได้แก่ ป่าไม้ แร่ธาตุ ดิน สัตว์ป่า
แบ่งตามลักษณะ
1. ทรัพยากรประเภทคงที่ (Stock Natural Resources)
1.1 ประเภทที่ไม่สูญสลาย หรือเสื่อมคุณภาพ (Non-deteriorating) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา ได้แก่ กรวด หิน ดิน ทราย แร่ธาตุ เป็นต้น
1.2 ประเภทที่สูญสลาย หรือ เสื่อมคุณภาพ (Deteriorating) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาหรือการนำมาใช้ ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
2. ทรัพยากรประเภทเคลื่อนไหว (Flow Natural Resources)
2.1 ประเภทที่เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับการใช้ (Use Independent) ไม่หมดเปลืองไปกับการใช้ของมนุษย์ เนื่องจากสามารถเสริมสร้างให้เกิดขึ้นต่อเนื่องเสมอ ได้แก่ แสงแดด น้ำฝน แม่น้ำ เป็นต้น
2.2 ประเภทที่ขึ้นอยู่กับการใช้ (Use Dependent) ทรัพยากรสามารถที่จะงอกเงยขึ้นใหม่ (Renewable) ตามธรรมชาติเพื่อแทนส่วนที่ถูกใช้ไป แต่ถ้าหากมีการใช้ในอัตราที่เร็วกว่าการงอกเงยขึ้นใหม่ตามธรรมชาติ ปริมาณของทรัพยากรประเภทนี้ก็จะลดน้อยลง ได้แก่ ป่าไม้ น้ำบาดาล สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ เป็นต้น
1.3 หลักการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เปรียบเทียบประโยชน์สุทธิ ที่เกิดจากการใช้ในระยะต่างๆ กัน โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ หลายด้าน
ได้แก่
1. ปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
2. ค่าใช้จ่ายในการนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้รวมทั้งค่าขนส่งในระยะเวลาต่างๆ
3. ราคาที่คาดว่าจะขายได้ในระยะเวลาต่าง ๆ สำหรับทรัพยากรประเภทเคลื่อนไหว ต้องระวังมิให้อัตราการใช้เร็วกว่าธรรมชาติสร้างทดแทน ถ้าใช้ในอัตราเกินกว่าเขตอันตราย (critical zone) ทรัพยากรจะค่อยๆ สูญสิ้นไป
แกน OY แสดงปริมาณปลาที่โตพอจะจับได้ แกน OX แสดงปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลา เส้น OZ เป็นเส้น 450 แสดงถึงจำนวนปลาที่โตพอจะจับได้
ลักษณะของเส้น OY แสดงว่า ปริมาณปลาที่โตพอที่จะจับได้เพิ่มขึ้นในอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาอยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลามีจำนวนมากขึ้น และสูงสุดเท่ากับ DF หลังจากที่ปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาเกินระดับ OD ไปแล้ว ปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาจะจับได้ลดน้อยลง และจำนวนปลามีมากขึ้น ต้องแก่งแย่งอาหารกัน คำกล่าวข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานแห่งความจริงว่า เมื่อปริมาณพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลามีจำนวนน้อย ย่อมแพร่พันธุ์ทำให้เกิดปริมาณปลาที่โตจะจับได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่อัตราการเพิ่มจะค่อย ๆ ช้าลง อย่างไรก็ดีถ้ามีการบูรณะส่งเสริมให้ทะเลมีแหล่งอาหารธรรมชาติสำหรับปลามากขึ้น เส้น OY ก็จะเลื่อนสูงขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาเท่าเดิมทุกระดับจะก่อให้เกิดปริมาณปลาที่โตพอจะจับได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับเส้นตรง 45ํ ที่ลากจากจุดเริ่มต้น แสดงถึงจำนวนปลาที่โตพอที่จะจับได้ ที่จะแทนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เก่าได้ดี ดังนั้นระยะทางของเส้น OY กับเส้นตรง 45 องศา จึงแสดงถึงจำนวนปลาที่เกินกว่าที่จะสงวนไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จากรูป ถ้าปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาอยู่ที่ระดับ OI ปริมาณปลาที่จุดดุลยภาพ (Equilibrium level) ที่จะจับได้เท่ากับ JK หากจับเกินกว่า JK จะทำให้การจับเข้าสู่ "เขตอันตราย" คือทำให้ปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาเหลือน้อยลง ปริมาณปลาที่จะแพร่พันธุ์ได้ก็จะเหลือน้อยลงตามไปด้วย ทำนองเดียวกันถ้าปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีจำนวนเท่ากับ OD ปริมาณปลา ณ จุดดุลยภาพที่จะจับได้เท่ากับ EF หากเกินกว่านี้จะเข้าสู่เขตอันตราย
1.4 ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากร ทรัพยากรธรรมชาติก็มีผลให้เกิดการพัฒนาและสามารถทำให้เกิดสินค้า และบริการต่าง ๆ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากมีการวางแผนการนำทรัพยากรมาใช้อย่างรอบคอบ การพัฒนาย่อมเกิดขึ้นในลักษณะที่ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอยู่ในระดับซึ่งคนในสังคมยอมรับได้
จากรูปที่ 2.4 เส้น AE คือเส้นที่แสดงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่สังคมยอมรับ กล่าวคือ เมื่อระดับการพัฒนาเพิ่มขึ้นระดับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่สังคมยอมรับได้จะลดลง กล่าวคือ เมื่อคนในสังคมมีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้นสามารถอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการที่จำเป็นแก่การครองชีพแล้ว ย่อมเสาะแสวงหาสิ่งฟุ่มเฟือยรวมทั้งต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย
เส้น FI แสดงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพลเมืองซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา
เส้น FG แสดงถึงระดับการพัฒนาที่ปราศจากการวางแผนควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกวิธี กรณีนี้เมื่อการพัฒนามาถึง OJ ก็จะถึงจุดอิ่มตัว และถ้าพัฒนาเกินกว่านี้จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยการเกินระดับที่สังคมจะยอมรับได้ (เกินจากจุด B)
เส้น FH แสดงถึงระดับการพัฒนาโดยมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างถูกวิธี การพัฒนาจะถึงจุดอิ่มตัวที่ช้ากว่า คือ สามารถพัฒนามาจนถึงจุด OK ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในระดับที่ดีกว่ากรณีไม่มีการวางแผนการใช้ทรัพยากร
1.5 นโยบายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
1) ทรัพยากรประเภทคงที่ ควรสำรวจแหล่งทรัพยากรให้ทราบแน่นอน จัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงให้ครบถ้วนทันสมัยอยู่เสมอ
2) ทรัพยากรประเภทเคลื่อนไหวที่ขึ้นกับการใช้ ควรทราบ critical zone ของแต่ละประเภท และมีมาตรการป้องกัน ลงโทษ
3) ทรัพยากรประเภทที่เอกชนมีสิทธิครอบครอง ควรมีนโยบายเพิ่มสมรรถนะของการใช้ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
4) ทรัพยากรประเภทเคลื่อนไหวที่ไม่ขึ้นกับการใช้ ควรมีนโยบายส่งเสริมค้นคว้างานวิจัย เพื่อลดการนำเข้าพลังงานรูปอื่นๆ นอกจากนี้ควรมีนโยบายสนับสนุนบูรณะพัฒนาทรัพยากรที่มีให้ส่งผลประโยชน์มากขึ้น และวางแผนการใช้และป้องกันมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนโยบายรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และใช้อย่างถูกต้อง
2 แรงงาน (Labor)
2.1 บทบาทของแรงงาน แรงงานเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อการผลิตและกระบวนการพัฒนา และปริมาณแรงงาน ชั่วโมงการทำงาน และความตั้งใจในการทำงาน ตลอดจนความสามารถและประสิทธิภาพของแรงงานจะเป็นตัวกำหนดผลผลิตและระดับของการพัฒนา ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานมากเมื่อเทียบกับปัจจัยการผลิตชนิดอื่นๆ มักมีปัญหา กล่าวคือ ถ้าเกิดการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็วย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ และทำให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก คือ ถ้าปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ปัญหาการลดน้อยถอยลง (diminishing returns) อันเนื่องจากการที่ปริมาณแรงงานเพิ่มขึ้นจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ปัญหาด้านประสิทธิผล (productivity) การทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) การว่างงาน (unemployment) เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น
2.2 ความหมายของแรงงาน ในทางปฏิบัติแรงงานอาจถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามคุณภาพและการฝึกอบรม คือ แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) แรงงานที่มีฝีมือพอสมควร (Semi-Skilled Labor) และแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labor) 2.3 การลงทุนเพื่อสะสมทุนมนุษย์ (human capital) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนทุนมนุษย์ อาจทำได้หลายรูปแบบ คือ
1) การให้การศึกษาในระบบโรงเรียน
2) การฝึกอบรมระหว่างการทำงาน
3) การให้ข่าวสารตลาดแรงงาน
4) สุขภาพและโภชนาการ
3. ทุน (capital)
ตามความหมายทางพัฒนาเศรษฐกิจ สินค้าประเภททุนอาจตีความหมายได้ 2 อย่าง คือ
1. ความหมายอย่างแคบ หมายถึง เครื่องมือ เครื่องจักร โรงงาน ที่ดิน รวมทั้งวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิต และสินค้าที่ผลิตแล้วแต่ยังมิได้จำหน่าย
2. ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วในความหมายแรก รวมไปถึงความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ ที่ประชากรภายในประเทศได้สร้างสมไว้ และทุนขั้นพื้นฐานของประเทศ อันได้แก่ การคมนาคม เครื่องมือขนส่ง การชลประทาน การศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น
3.1 บทบาทของทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจ
1. เพื่อการจัดหาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
2. บทบาทของทุนแตกต่างกันไป ประเทศพัฒนาแล้ว มีบทบาทด้านค้นคว้า วิจัย ปรับปรุงและพัฒนาสินค้า ประเทศกำลังพัฒนา มีบทบาทมากในกระบวนการผลิต
3. สำหรับการแสวงหาความก้าวหน้าทางวิทยาการ
4. ถ้าอัตราส่วนของทุนต่อแรงงานต่ำ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ
5. สำหรับการพัฒนาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ เช่น พัฒนาด้านอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า หรือเพื่อการส่งออก
3.2 แหล่งที่มาของทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจมาจาก 2 แหล่ง ใหญ่ ๆ คือ
1) แหล่งเงินทุนภายในประเทศ จากการออมของภาคเอกชนและรัฐบาล การออมโดยสมัครใจ คือ ผู้ออมใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ การออมโดยไม่สมัครใจ เกิดจากแรงผลักดันของผู้อื่น เช่น รัฐบาลเพิ่มอัตราภาษี การใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล การใช้นโยบายกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ
2) แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เงินกู้ยืมจากต่างประเทศ และเงินบริจาค
บางครั้งเงินกู้ที่ได้มามิได้นำไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่มักนำไปบริโภคสามารถอธิบายได้ดังรูปที่ 2.5 คือ สมมติมีประเทศ A เดิมที่ยังไม่มีการกู้เงินจากต่างประเทศ ประเทศ A มีการบริโภครวมเท่ากับ C1 และมีการลงทุนรวมเท่า I1 ตามเส้นเป็นไปได้ในการผลิต PP เมื่อมีเงินกู้มาจากต่างประเทศเพื่อนำมาลงทุนทำให้เส้นเป็นไปได้ในการผลิตขยายออกไปเป็น P1P1 ถ้านำเงินที่กู้มาไปลงทุนทั้งหมดจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น I3 แต่ประเทศกำลังพัฒนามักนิยมนำไปบริโภคส่วนหนึ่ง ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น C2 การลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง I2 ซึ่งทำให้เงินกู้ที่เข้ามามิได้นำไปลงทุนอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปเพื่อการบริโภค
4 เทคโนโลยี
4.1 บทบาทของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต และเพิ่มผลผลิตในกระบวนการผลิต เพราะช่วยให้การนำเอาทรัพยากรมาใช้ได้หลายแนวทางยิ่งขึ้น และมีผลให้กระบวนการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอาจแบ่งแยกออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ
1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบเป็นกลาง มีผลทำให้ผลิตภาพของทุนและแรงงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน (รูปที่ 2.6)
2. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบประหยัดทุน มีผลทำให้ผลิตภาพของทุนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 2.7)
3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบประหยัดแรงงาน มีผลทำให้ผลิตภาพของทุนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตนี้จึงให้ปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตน้อยลงทั้งสองชนิด แต่มีการประหยัดการใช้แรงงานมากกว่าประหยัดการใช้ทุน มีการใช้ทุนต่อแรงงานในสัดส่วนที่สูงขึ้น
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถจะนำมาใช้ในการลงทุน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำมาใช้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานมาก (Labor-Intensive Technique) และเทคโนโลยีที่ใช้ปัจจัยประเภททุนมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่น (capital-Intensive Technique)
รูปที่ 2.9 สมมติว่าประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ใช้ปัจจัยทุนมากเริ่มต้นจาก P1 และประเทศที่ใช้แรงงานมากเริ่มต้นจาก P2 ในระยะ 5 ปีแรกจะเห็นได้ว่าจำนวนผลผลิตรวมของประเทศที่ใช้แรงงานมากสูงกว่าจำนวนผลิตผลรวมของประเทศที่ใช้ปัจจัยประเภททุนมาก ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ทุนมากต้องการเวลาการลงทุนนานก่อนให้ผลประโยชน์ แต่เมื่อให้ประโยชน์แล้ว อัตราการเพิ่มของผลผลิตรวมจะมากกว่าเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานมาก จากรูปจะเห็นว่าหลังจากปีที่ 15 ไปแล้วเทคโนโลยีที่ใช้ทุนมากจะให้ผลผลิตเพิ่มมากกว่าเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานมาก
5 การค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศมีบทบาทในการช่วยเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจาก
1. ตลาดในต่างประเทศมีขอบเขตกว้างขวาง อำนาจซื้อสูง
2. ทำให้ได้รับเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าอื่นๆ
3. ช่วยเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ และขยายการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง
แต่อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ได้จากการค้าระหว่างประเทศมักตกอยู่กับประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจาก
1. ประเทศกำลังพัฒนาผลิตสินค้าขั้นปฐม แต่เลียนแบบการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ขาดดุลการค้า
2. ประเทศพัฒนาแล้วมักจำกัดการนำเข้าสินค้าบางอย่างจากประเทศกำลังพัฒนา
3. ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาสิ่งทดแทนสังเคราะห์ ทำให้อุปสงค์ต่อวัตถุดิบธรรมชาติจากประเทศกำลังพัฒนาลดลง
4. ประเทศพัฒนาแล้วมีเทคโนโลยีทันสมัย สามารถลดปริมาณการใช้และนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศกำลังพัฒนาได้
ที่มา http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/economic/eco52/index.html