www.Nattakae.webs.com |
ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ
1 ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาเศรษฐกิจหมายถึง กระบวนการ (Process) ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของรายได้ที่แท้จริง (หรือผลิตภัณฑ์ประชาชาติ) ต่อบุคคลตลอดเวลาและต่อเนื่องกันไปอย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต้องพยายามลดหรือขจัดสภาวะที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม เช่น ความยากจน การว่างงาน การทำงานต่ำกว่าระดับการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันให้หมดไป
2 ความแตกต่างระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของผลผลิตการเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิต การเพิ่มขึ้นของผลผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยของปัจจัย เป็นการมองมิติทางด้านปริมาณของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งวัดจากรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) มองมิติทั้งด้านปริมาณและคุณภาพคือ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (GNP เพิ่มขึ้น) และยังเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ค่านิยมทางสังคม โครงสร้างทางการเมือง ไปในทางที่ดีขึ้น
3 แนวคิดใหม่เกี่ยวกับอะไรคือการพัฒนาเศรษฐกิจ
Denis Goulet ได้เสนอความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจว่าควรมีองค์ประกอบพื้นฐานหรือค่านิยมที่เป็นแกนในการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ประการ ประกอบด้วย
1. ความสามารถที่จะหาปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐาน (Sustenance: The ability to meet basic needs) ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย สุขภาพอนามัยที่ดี มีความปลอดภัย เป็นต้น
2. การนับถือเกียรติภูมิหรือศักดิ์ศรีของตนเอง (Self-esteem: To Be a Person) หรือการมีศักดิ์ของความเป็นมนุษย์
3. มีความเป็นอิสระจากความเป็นทาสหรือความสามารถในการเลือก (Freedom from Servitide: To Be Able to Choose) คือ ไม่ตกอยู่ในภาวะจำยอมในการทำงานหรือการบริโภคและกิจกรรมอื่น ๆ
4 การจำแนกประเภทของประเทศกำลังพัฒนา
องค์การสหประชาชาติ ได้จำแนกประเทศกำลังพัฒนาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเทศยากจน หรือประเทศด้อยพัฒนา (least developed) ประเทศกำลังพัฒนา (developing nations) และประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน (Opec)
Word Bank จำแนกตามรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร แบ่งประเทศออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประเทศที่มีรายได้ปาน ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และประเทศที่มีรายได้สูง
United Nations Development Program (UNDP) ได้ใช้ Human Development Index (HDI) ซึ่งได้รวมตัวแปรทางด้านรายได้และมิใช่รายได้เป็นตัววัด สามารถแบ่งประเทศออกได้เป็น ประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และประเทศที่มีรายได้ต่ำ
Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) จำแนกประเทศกำลังพัฒนาออกเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ (low-income countries: LICs) ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle-income countries: MICs) ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrializing countries (NICs) และประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม OPEC
5 โครงสร้างของประเทศกำลังพัฒนา
5.1 ลักษณะที่ต่างกันของประเทศกำลังพัฒนา
1) ขนาดของประเทศ
ขนาดทางกายภาพของประเทศ ขนาดของประชากรและระดับรายได้ประชาชาติต่อบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดศักยภาพทางเศรษฐกิจ ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น บราซิล อินเดีย และอียิปต์ จะได้เปรียบทางด้านมีขนาดตลาดใหญ่ พึ่งพาแหล่งวัตถุดิบและผลผลิตจากต่างประเทศน้อยกว่า แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ความไม่เสมอภาคในด้านการพัฒนา ความไม่เสมอภาคระหว่างชนบทและเมือง เป็นต้น
2) พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในอาฟริกา และเอเชีย ครั้งหนึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรปตะวันตก ดังนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา และสถาบันทางสังคม จึงมีรูปแบบตามประเทศที่เคยปกครองมาก่อน ถึงแม้ปัจจุบันจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และโครงสร้างทางสถาบันของประเทศกำลังพัฒนา
3) ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทางกายภาพ
ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ที่ดิน แร่ธาตุต่าง ๆ และทรัพยากรมนุษย์ ทั้งจำนวนประชากรและระดับความชำนาญ ทัศนคติต่อการทำงาน ความสามารถในการจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ และความปรารถนาในการปรับปรุงตนเอง ตลอดจนอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ซึ่งแตกต่างกันไปของแต่ละประเทศ
4) ความสำคัญเปรียบเทียบระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน
ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม แต่ภาครัฐบาลหรือเอกชนภาคใดจะมีความสำคัญมากกว่ากันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และการเมือง ถ้าภาคเอกชนมีสิทธิและเสรีภาพมากและมีระบบการค้าเสรี รัฐบาลก็เพียงแต่ดูแลให้ภาคเอกชนปฏิบัติตามกฎหมาย ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของสังคม การพิจารณานโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจึงแตกต่างไปตามความสำคัญระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนของแต่ละประเทศ
5) โครงสร้างของอุตสาหกรรม
ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการทวีความสำคัญขึ้น ในปี ค.ศ.1970-1980 ประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ถูกยอมรับว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีภาคอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา แต่ภาคอุตสาหกรรมของอินเดียก็ยังเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท
6) การพึ่งพาต่างประเทศ
ระดับการพึ่งพาต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอยู่กับทรัพยากร ขนาด และพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็ก ความเจริญทางเศรษฐกิจมักพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นอกจากนี้ อิทธิพลด้านวัฒนธรรม แบบแผนการบริโภค ตลอดจนค่านิยมจากต่างประเทศจะมีอิทธิพลต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นตามระดับการพัฒนาที่ยึดถือเอาแบบอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว
5.2 ลักษณะที่คล้ายคลึงกันของประเทศกำลังพัฒนา
ลักษณะทางเศรษฐกิจ
1) ระดับการครองชีพต่ำ
ประชากรในประเทศกำลังพัฒนามักจะมีระดับการครองชีพต่ำ เพราะมีรายได้ต่อบุคคลต่ำมาก เป็นผลมาจากการใช้เทคนิคการผลิตที่ไม่ทันสมัย ประชากรขาดความรู้ ความชำนาญ อัตราเพิ่มของประชากรอยู่ในระดับสูง ผลที่ตามมาคือ ความยากจน
2) ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตต่ำ
ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตต่ำ สาเหตุเนื่องจาก การขาดความรู้ ความชำนาญ ขาดปัจจัยทุนที่ทำงานร่วมกับแรงงาน แรงงานมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ เครื่องจักรก็ยังมีผลิตภาพต่ำ เพราะแรงงานขาดทักษะ เครื่องจักรมิได้รับการบำรุงรักษา เครื่องจักรถูกใช้งานไม่เต็มที่ ขนาดตลาดในประเทศมีขนาดเล็ก
3) อัตราการเพิ่มของพลเมือง และอัตราการพึ่งพิงสูง
ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา มีการศึกษาไม่สูงนัก นิยมมีลูกมาก ปัจจุบันอัตราการตายลดลง เพราะได้ความรู้ด้านสาธารณสุขจากประเทศพัฒนาแล้ว อัตราการเพิ่มของประชากรจึงสูงขึ้น เป็นผลให้อัตราการพึ่งพิงสูง มีประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีสูงมาก เป็นภาระให้แก่ผู้ปกครองคือหาเงินมาเลี้ยงดู ให้การศึกษา เงินออมน้อยจึงเหลือที่จะไปลงทุนน้อย
4) ยึดการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตร
สัดส่วนของประชากรที่มีอาชีพทางการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามีประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีประมาณร้อยละ 10 หรือต่ำกว่า ทั้งนี้ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าประเภทอาหาร และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 80
5) ต้องพึ่งพาอาศัยและถูกประเทศพัฒนาแล้วเอารัดเอาเปรียบ
อำนาจในการต่อรองของประเทศกำลังพัฒนามีน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมักจะ - กว้านซื้อวัตถุดิบที่หายากจากประเทศที่กำลังพัฒนา - จำหน่ายเครื่องจักร และเทคโนโลยี ที่ไม่เหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา และจำหน่ายในราคาแพง - ทุ่มขายสินค้าชนิดเดียวกับที่ประเทศกำลังพัฒนาผลิตในราคาถูกเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาเลิกล้มกิจการ - ชักจูงให้ชนชั้นมันสมองไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว - ประเทศพัฒนาแล้วมักเป็นตัวอย่างของการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย
6) พลเมืองส่วนใหญ่มีอาชีพในการผลิตสินค้าขั้นปฐม
ประเทศกำลังพัฒนามักมีสัดส่วนของประชากรประกอบอาชีพในขั้นที่หนึ่งเป็นจำนวนมาก ได้แก่ การทำกสิกรรม เพาะปลูก เหมืองแร่ ประมง และการผลิตวัตถุดิบอื่น ๆ
7) การมีทุนขั้นพื้นฐานในประเทศไม่เพียงพอ
ทุนขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบการคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา การสาธารณสุข การชลประทาน การไฟฟ้า การพลังงาน การประปา ประเทศกำลังพัฒนามักขาดแคลนทุนพื้นฐาน และขาดปัจจัยทางด้านเงินทุน ทำให้เป็นอุปสรรคแก่ผู้ที่จะมาลงทุน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
8) มีระดับการว่างงานและการทำงานไม่เต็มที่สูง
การว่างงาน หมายถึง การที่ประชากรพร้อมที่จะทำงานในอัตราค่าจ้างที่กำหนดในตลาดแรงงาน แต่ประชากรนั้นไม่สามารถหางานทำได้ การทำงานไม่เต็มที่ หมายถึง การว่างงานตามฤดูกาลหรือประชาชนมีงานทำต่อวันต่อสัปดาห์น้อยกว่าที่พวกเขาปรารถนาที่จะทำ นอกจากนี้การทำงานไม่เต็มที่ยังรวมถึงการว่างงานแอบแฝง คือ ผลิตภาพทางแรงงานต่ำมากถ้าลดคนงานเหล่านี้ลงหรือลดชั่วโมงการทำงานลง ผลผลิตรวมก็ไม่ลดลง
ลักษณะทางสังคม
1) การมีครอบครัวขนาดใหญ่
ประเทศกำลังพัฒนามักมีครอบครัวขนาดใหญ่ การมีครอบครัวขนาดใหญ่ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา เพราะระบบครอบครัวใหญ่ไม่ส่งเสริมการก่อให้เกิดผู้นำ ผู้ประกอบการ และการออมทรัพย์
2) ไม่มีการใช้ระบบคุณธรรมอย่างทั่วถึง
ในประเทศกำลังพัฒนา การพิจารณาบุคคลเข้ารับตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งมักใช้ความรู้สึกเป็นพวกพ้อง ญาติ พี่น้อง มากกว่าความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ทำให้เป็นผลเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
3) อัตราส่วนของชนชั้นกลางน้อย
ชนชั้นกลางมีแรงผลักดันสูงในการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ เพื่อความก้าวหน้า เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนา
4) สังคมไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างจริงจัง
สังคมที่กำลังพัฒนา ยังไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่การงาน รัฐบาลมักใช้อำนาจและหน้าที่ของตนในการวางนโยบายต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการแท้จริงของประชาชน เพราะประชาชนในประเทศส่วนมากขาดความรู้และความสนใจในกิจการของประเทศ และส่วนใหญ่ยากจนต้องใช้เวลาทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อสังคมไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน การบริหารงานก็มักก้าวก่ายกัน
6 ดัชนีที่ใช้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
1. รายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล คือ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (GNP) ธ จำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ
2. เครื่องชี้ภาวะการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ โดยสถาบันวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมของสหประชาชาติ (The United Nations Research Institute or Social Development: UNRISD) แบ่งเป็น 9 ตัวชี้ทางด้านสังคม และ 7 ตัวชี้ทางด้านเศรษฐกิจ
1. ความยืนยาวของชีวิตตั้งแต่แรกเกิด
2. ร้อยละของประชากรในท้องถิ่นที่มีรายได้สูง
3. ปริมาณโปรตีนที่บุคคลหนึ่งได้รับต่อวัน
4. จำนวนเข้ารับการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา
5. อัตราส่วนของผู้เข้าเรียนวิชาชีพ
6. จำนวนบุคคลโดยเฉลี่ยต่อห้องพักอาศัย
7. จำนวนหนังสือพิมพ์ต่อประชากร 1,000 คน
8. ร้อยละของประชากรที่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้
9. ผลผลิตทางการเกษตรต่อแรงงานเพศชาย
10. ร้อยละของแรงงานชายที่บรรลุนิติภาวะในภาคเกษตร
11. ปริมาณไฟฟ้าที่ได้รับต่อกิโลวัตต์ต่อคน
12. ปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับต่อกิโลกรัมต่อคน
13. ปริมาณพลังงาน เช่น แก๊สต่อกิโลกรัมต่อคน
14. ร้อยละของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศจากอุตสาหกรรม
15. มูลค่าการค้าต่างประเทศต่อบุคคล
16. ร้อยละของผู้ได้รับเงินเดือนค่าจ้างต่อประชากรทั้งหมด
ที่มา: UNRISD, Contents and Measurements of Socioeconomic Development (Genera, 1970), p. 63.
3. เครื่องชี้การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (The Human Development Index: HDI)
โดยเครื่องชี้วัดนี้มีมาตรวัดอยู่ระหว่าง 0-1 ค่า 0 หมายถึง มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ต่ำสุด และค่า 1 หมายถึง มีการวัดคุณภาพชีวิตของมนุษย์สูงสุด เครื่องชี้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ประกอบด้วยสามเป้าหมายด้วยกันคือ 1) ความมีอายุยืน ซึ่งวัดด้วยความยืนยาวของชีวิตตั้งแต่เกิด 2) ความรู้ซึ่งวัดด้วยการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่ และปีการศึกษาในโรงเรียนโดยเฉลี่ย 3) รายได้ ซึ่งวัดด้วยรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล
4. ดัชนีที่ใช้วัดสวัสดิการของประเทศ
4.1 การวัดโดยเส้นโค้งลอเรนซ์ (Lorenz Curve)
วิธีนี้จะต้องคิดเทียบร้อยละของพลเมืองในแต่ละระดับว่าจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ไปเท่าใด ถ้าการกระจายรายได้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ร้อยละของพลเมืองจะต้องเท่ากับร้อยละของรายได้
![]()
เส้นลอเรนซ์ (Lorent Curve)
4.2 การวัดโดยค่าสัมประสิทธิ์ของจีนี (GINI Coefficient)
ค่าสัมประสิทธิ์ของจีนี = (พื้นที่ A) / พื้นที่ A + B
ค่า 0 หมายถึง การกระจายได้เท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์
ค่า 1 หมายถึง การกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์
ที่มา http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/economic/eco52/index.html